‘ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา’ โปรเจกต์ยักษ์สู่ ‘ฮับอาเซียน’
“การบินไทย” พร้อมเดินหน้าศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา 8 พันล้านบาท เร่งทบทวนรูปแบบลงทุน คาดแล้วเสร็จภายในปีนี้ พร้อมประกาศหาพันธมิตรร่วมทุน หนุนขยายฐานลูกค้าแอร์ไลน์ทั่วโลก
โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการลงทุนตั้งแต่ช่วงปี 2561 ซึ่งในขณะนั้นการบินไทยได้ออกประกาศเชิญชวนและคัดเลือกเอกชนด้วยวิธีคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ผลการคัดเลือกพบว่า บริษัท Airbus S.A.S (แอร์บัส) ผ่านคุณสมบัติและมีประสบการณ์เหมาะสมตามที่การบินไทยกำหนดไว้ แต่ท้ายที่สุดการเจรจาร่วมทุนยังไม่เป็นผล และอุตสาหกรรมการบินต้องเจอวิกฤตโควิด-19 จึงทำให้ทางแอร์บัสถอนตัวร่วมลงทุน
สำหรับตามแผนลงทุนของการบินไทยที่เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ พบว่าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานจะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 210 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในความครอบครองของกองทัพเรือ โดยประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งระยะการลงทุนออกเป็น ระยะแรกช่วงปี 2565-2583 จะลงทุนประมาณ 6,400 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุง และจัดซื้ออุปกรณ์ ซึ่งเอกชนจะต้องจ่ายค่าเช่าให้กองทัพเรือตลอดอายุสัญญาเช่าพื้นที่ 50 ปี
โดยศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานจะรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยาน ประกอบด้วย
การซ่อมใหญ่อากาศยาน (Heavy Maintenance)
- รองรับอากาศยานลำตัวกว้างได้พร้อมกัน 3 ลำ
- รองรับอากาศยานลำตัวกว้างได้ 110 ลำต่อปี
- รองรับอากาศยานลำตัวแคบ 130 ลำต่อปี
การซ่อมบำรุงระดับลานจอด (Line Maintenance)
- รองรับอากาศยานลำตัวกว้างและแคบได้ 70 เที่ยวบินต่อวัน
การพ่นสีอากาศยานทั้งลำตัวแคบและลำตัวกว้าง
- รองรับอากาศยานได้ราว 22 ลำต่อปี
นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นพัฒนาโรงซ่อมอากาศยานอัจฉริยะ (Smart-hanger) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สุดของโลก สามารถรองรับการให้บริการซ่อมเครื่องบินทั้งของแอร์บัสและโบอิ้ง โดยตามแผนเดิมที่ศึกษาไว้ คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2565 มีเป้าหมายสร้างรายได้ในปีแรกอยู่ที่ 400-500 ล้านบาท จากการซ่อมอากาศยาน 10 ลำ และประเมินว่าจะมีการเติบโตของรายได้เฉลี่ยอีกปีละ 2% และในช่วง 50 ปีจะมีรายได้รวม 2 แสนล้านบาท
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) โดยระบุว่า ขณะนี้การบินไทยมีความพร้อมลงทุนโครงการดังกล่าว และอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนรูปแบบการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3 – 4 เดือนนี้ เนื่องจากโครงการนี้เคยมีการศึกษาไว้นานแล้ว
อย่างไรก็ดี การบินไทยได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อยืนยันการความพร้อมในการลงทุนโครงการ และยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการหากได้รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เพราะหากยังช้าก็อาจจะทำให้เสียโอกาส อีกทั้งยังอยู่ระหว่างเจรจาจัดหาพันธมิตรร่วมลงทุนด้วย โดยเบื้องต้นมีการประเมินรูปแบบลงทุนไว้หลายโมเดล และมีเอกชนเสนอเข้าร่วมลงทุนจำนวนมาก
“เอกชนทั้งไทยและต่างชาติสนใจร่วมลงทุนกับการบินไทยในโครงการนี้ และสอบถามข้อมูลเข้ามาเยอะมาก ซึ่งเราก็ยืนยันว่าขณะนี้มีความพร้อมที่จะลงทุนโครงการแล้ว เพราะมีเงินทุนเพียงพอ แคชโฟว์สะสมสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งปัจจุบันยังพบว่าความต้องการซ่อมบำรุงอากาศยานยังมีสูงอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของธุรกิจการบิน”
นายชาย ยังกล่าวอีกว่า แผนเดิมที่เคยศึกษาเพื่อร่วมทุนกับบริษัทแอร์บัส ประเมินวงเงินลงทุนที่การบินไทยต้องจัดหาอยู่ที่ 7 – 8 พันล้านบาท ส่วนแผนที่กำลังจะศึกษาทบทวนครั้งนี้ก็คาดว่าจะใช้วงเงินใกล้เคียงกัน แต่จะเป็นรูปแบบลงทุนอย่างไรต้องรอให้ผลการศึกษาแล้วเสร็จก่อน ส่วนเป้าหมายที่การบินไทยกำหนด คือ ต้องการให้ MRO อู่ตะเภาเป็นอีกหนึ่งหน่วยธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้องค์กรอย่างยั่งยืน สามารถขยายรับซ่อมบำรุงอากาศยานกับลูกค้าสายการบินอื่น นอกเหนือจากปัจจุบันที่การบินไทยซ่อมบำรุงเฉพาะอากาศยานของบริษัท และเป็นศูนย์กลางการซ่อมอากาศยานของอาเซียน
ทั้งนี้ การลงทุน MRO อู่ตะเภาเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยได้รายงานต่อศาลล้มละลายไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อมีความพร้อมก็สามารถดำเนินการได้ แต่การลงทุนของการบินไทยหลังจากนี้จะคำนึงถึงผลตอบแทนที่ได้รับ ต้องเป็นการสนับสนุนธุรกิจให้มีรายได้ยั่งยืน การร่วมลงทุนกับพันธมิตรก็จำเป็นต้องหาพันธมิตรที่มีจุดแข็งในสิ่งที่การบินไทยยังขาด อาทิ มีฐานลูกค้าสายการบินที่ต้องการซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่แล้ว หรือมีประสบการณ์ทำธุรกิจศูนย์ซ่อม เป็นต้น
“การบินไทยเรามีความรู้ในการซ่อมบำรุงอากาศยานมาเป็นเวลานานแล้ว แต่สิ่งที่ยังขาดคือการหาลูกค้าสายการบิน เพราะที่ผ่านมาเรามีศูนย์ซ่อมเพื่อซ่อมอากาศยานของตัวเอง ดังนั้นพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุนก็อยากได้คนที่มีประสบการณ์ มีลูกค้าในมืออยู่แล้ว รวมไปถึงสามารถบริการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ศูนย์ซ่อมนี้มีโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืน”