ส่งออกไทยไปจีน ส่อวืดเป้า หลังเศรษฐกิจแดนมังกรฟื้นตัวช้า
ตลาดจีน ตลาดส่งออกสำคัญไทย เริ่มส่งสัญญาณแผ่ว จากเศรษฐกิจฟื้นช้า วิกฤตอสังหาฯ ทำให้กำลังซื้อหด ส่งออกสินค้าเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ติดลบกว่า 20 % เผย 7 เดือนแรกปี 66 ติดลบแล้ว 3.7 % หวั่นส่งออกไปจีนไม่เป็นไปตามเป้า 1 %
กระทรวงพาณิชย์ รายงานการส่งออกของไทยเดือนก.ค.มีมูลค่า 22,143.2 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 6.2 % หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ติดลบ 2.0 % ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 24,121.0 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 11.1 % ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,977.8 ล้านดอลลาร์
ในขณะที่ภาพรวม 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) การส่งออก มีมูลค่า163,313.5 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 5.5% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 171,598.9 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.7% ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 8,285.3 ล้านดอลลาร์
เมื่อโฟกัสไปยังตลาดส่งออกหลักของไทยพบว่า การส่งออกไปยังตลาดส่งออกสำคัญยังมีความไม่แน่นอน โดยยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนประมาณ 12 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งปีนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกไปจีนขยายตัว 1 % แต่แค่ครึ่งปีแรกก็ติดลบแล้ว 2 %
จากข้อมูลการส่งออกของไทยไปจีนตั้งแต่ปลายปี 65 ต่อเนื่องปี 66 ยังคงติดลบอย่างต่อเนื่อง โดยม.ค.ตลาดจีน ติดลบ 11.4% ก.พ.ติดลบ 7.9 % มี.ค.ติดลบ 3.9 % ถือเป็นการติดลบต่อเนื่อง 10 เดือน แต่มาเดือนเม.ย..ตลาดจีน ขยายตัว 23.0 % กลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน ซึ่งเดือนเม.ย.เป็นช่วงที่ผลไม้ไทยออก โดยเฉพาะทุเรียน จึงทำให้การส่งออกพลิกกลับเป็นบวก ได้ แต่ในเดือนถัดมาคือ เดือน พ.ค.ติดลบ 24.0 % .และเดือนมิ.ย.กลับมา ขยายตัว 4.5% และล่าสุดเดือนก.ค.กลับมาติดลบ 3.2 % ส่งผลให้ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 66 ตลาดจีนติดลบ 3.7 %
ตลาดจีนที่คาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาจากการเปิดประเทศเมื่อปลายปี 65 หลังยกเลิกมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่จะกลับไม่เป็นตามไปตามที่คาด เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซ้ำเติมด้วยวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจจีนที่มีอิทธิพลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องด้วยภาคอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 29% ของ GDP จีน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่า ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์มองผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก การบริโภคและการใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนที่ลดลง และส่งผลข้างเคียงมายังเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศไทย
ภาคการส่งออก ทำให้กำลังซื้อของชาวจีนที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ซึ่งมีจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วน 18% และ 29% ตามลำดับ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออก Top 10 ของไทย ซึ่งครึ่งปีแรกของปี 2566 สองสินค้าข้างต้นที่ส่งออกไปจีน หดตัว 20.9% และ 26.9%
ขณะที่ผู้ส่งออก “ชัยชาญ เจริญสุข “ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) วิเคราะห์ว่า การส่งออกไทยไปจีนน่าเป็นห่วง เพราะเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจาก Evergrande อสังหาริมทรัพย์ใหญ่ของจีน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ประกอบกับค่าครองชีพในจีนสูงขึ้น การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกไปจีนถึง 14-15 % ของการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ พลาสติก ที่ยอดส่งออกลดลงมาก นอกจากนี้การส่งออกไปต่างประเทศของจีนก็ลดลงยิ่งทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนช้าลงไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
โดยคาดว่าการส่งออกรวมในไตรมาส 3 ไปจีนน่าจะติดลบ และจะกลับมาฟื้นเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 จากคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการท่องเที่ยว และเทศกาลต่างๆในช่วงปลายปี ต่อเนื่องไปยังเทศกาลตรุษจีน อย่างไรก็ตามการส่งออกไปจีนทั้งปีน่าจะขยายตัวได้0-1 %
คงต้องจับตามมองเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีว่าจะเป็นอย่างไร เพราะจีนถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยหากเศรษฐกิจจีนยังฟื้นช้า ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ