ธ.ก.ส. ตั้งเป้าเพิ่มคาร์บอนเครดิตจากชุมชนสู่ตลาดกว่า 1.5 แสนตัน ภายใน 7 ปี
ธ.ก.ส.ผนึกกำลังชุมชนธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่ากว่า 6.8 พันชุมชน ขับเคลื่อนภารกิจซื้อ - ขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ BAAC Carbon Credit ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณคาร์บอนเครดิตจากชุมชนออกสู่ตลาดอีกกว่า 1.5 แสนตันคาร์บอน ภายใน 7 ปี
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการที่ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกป่าตามพระราชดำริ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง
โดยมีการพัฒนาและยกระดับไปสู่โครงการธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่า จนปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 6,814 ชุมชน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนกว่า 12.4 ล้านต้น มีสมาชิก 124,071 คน มูลค่าต้นไม้ในโครงการกว่า 43,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน มีการเตรียมประเมินมูลค่าต้นไม้เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในปี 2566 คิดเป็นมูลค่ากว่า 760 ล้านบาท
ในโอกาสที่รัฐบาลได้ประกาศต่อที่ประชุม World Leaders Summit ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065
ธ.ก.ส. จึงได้ร่วมกับชุมชนในการดำเนินโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อเดินหน้าแนวทางการส่งเสริมการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เริ่มจากการขึ้นทะเบียนโครงการ การตรวจนับจำนวนต้นไม้ การตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตจากผู้ประเมินภายนอก(Validation and Verification Body: VVB) การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อนำปริมาณการกักเก็บดังกล่าวไปตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
นำร่องโครงการธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น จำนวนคาร์บอนเครดิต 453 ตันคาร์บอน โดยขายกึ่ง CSR ในราคาตันละ 3,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1,359,000 บาทเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เกษตรกรในชุมชนจะมีรายได้ประมาณ 951,300 บาท ซึ่งโครงการดังกล่าวนอกจากช่วยสร้างรายได้กลับคืนสู่ผู้ปลูกต้นไม้แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่จะมาดูดซับปริมาณคาร์บอน สร้างภูมิคุ้มกันและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน และผลักดันให้ประเทศไทย สามารถบรรลุข้อตกลงความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่วางไว้
ด้านหลักการคิดคำนวณ ต้นไม้ 1 ต้น ช่วยสร้างปริมาณคาร์บอนเครดิตได้เฉลี่ย 9.5 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ซึ่งพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ปลูกต้นไม้ได้เฉลี่ย 100 ต้น/ไร่ จะได้ปริมาณคาร์บอนเครดิต 950 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ณ ราคาขายกึ่ง CSR 3,000 บาทต่อตันคาร์บอน (อัตราคำนวณรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 70 : 30) กล่าวคือ เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น ค่าขึ้นทะเบียนต้นไม้ในแต่ละต้น การตรวจนับและประเมิน การออกใบรับรอง เป็นต้น คิดเป็น 30%ของมูลค่าการขาย ดังนั้น เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายที่ 70 %ของราคาขาย หรือประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ต่อปี หรือกรณีปลูกต้นไม้แบบหัวไร่ปลายนา จะสามารถปลูกได้เฉลี่ย 40 ต้น/ไร่ คิดเป็น 380 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ต่อปี จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 800 บาทต่อไร่ต่อปี
ดังนั้นในกรณีที่หน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกเป็นศูนย์ โครงการ BAAC Carbon Credit จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบรรลุเป้าหมาย เพราะนอกจากหน่วยงานจะได้รับประโยชน์ในด้านธุรกิจ ที่มีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจชุมชนในการดูแลและปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวที่ได้รับการปกป้องโดยคนในชุมชน สะท้อนถึงความเข้มแข็งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลกอีกด้วย
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายที่จะขยายการสร้างคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ไปยังชุมชนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ รวมถึงขยายผลไปยังกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน การลดพื้นที่การเผาตอซังข้าว อ้อยและข้าวโพด การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลน เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะนำมาซื้อ - ขายได้กว่า 150,000 ตันคาร์บอน ภายใน 7 ปี
สำหรับหน่วยงานที่สนใจในการซื้อ - ขายคาร์บอนเครดิต และต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้และสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้กับชุมชน อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน