ธุรกิจใหม่พลิกโฉม 'ปตท.' เร่งสปีด 'อีวี-ยา-โลจิสติกส์-หุ่นยนต์'

ธุรกิจใหม่พลิกโฉม 'ปตท.' เร่งสปีด 'อีวี-ยา-โลจิสติกส์-หุ่นยนต์'

“อรรถพล” เปิดแผน ปตท.หลังปรับวิสัยทัศน์ใหม่ 2 ปี ชูนวัตกรรมลุยธุรกิจใหม่เต็มสูบควบคู่กับรักษารากฐานความแข็งแกร่งธุรกิจเดิม ยันต้องเปลี่ยนตัวเองในวันที่ธุรกิจน้ำมันยังเข้มแข็ง เร่งสร้างอีโคซิสเต็มอีวี พัฒนาธุรกิจใหม่ “ยา-การแพทย์” บุกขนส่งทางรางหนุนโลจิสติกส์

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัทพลังงานของประเทศไทยกำลังสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญจากธุรกิจพลังงานไปสู่ธุรกิจใหม่ หลังจากปรับวิสัยทัศน์ใหม่เป็น “Powering Life with future energy and beyond” ได้ 2 ปี ซึ่งเริ่มเห็นการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ที่จะเป็น New S-Curve ให้ประเทศ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ของ ปตท.ได้พัฒนาสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เป็นสถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนวิทยาศาสตร์ กลุ่ม ปตท.ในภาคตะวันออก เพื่อผลักดันนักศึกษาที่จบออกมาให้มีเวทีที่จะรองรับในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปตท.อยากจะผลักดันผลงานวิจัยจากหิ้งขึ้นสู่ห้าง และพยายามผลักดันธุรกิจและเทคโนโยลีใหม่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย 

ทั้งนี้ ธุรกิจ ปตท.ถือเป็นโฮลดิ้งที่โอเปอร์เรติ้ง คอมพานี คือ เป็นบริษัทที่มีโอเปอร์เรชั่นในตัวเอง และมีธุรกิจในตัวเอง โดยแบ่งตามโครงสร้าง คือ ธุรกิจขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย

นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจใหม่จะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “Powering Life with future energy and beyond” หรือ “ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งชีวิต” ซึ่งภายหลังปรับวิสัยทัศน์ 2 ปี มีความคืบหน้าพอสมควร โดยปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 จะเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub)ให้ได้ 9 ล้านตันต่อปี ส่วนธุรกิจไฟฟ้า จะต้องมีพลังงานทดแทน 15,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 3,629 เมกะวัตต์

สร้างกำไรจากธุรกิจใหม่ปี 2030

นอกจากนี้ จะต้องสร้างกำไรจากธุรกิจใหม่ 30% ในปี 2030 พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ปี 2040 และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี 2050 ส่วนบริษัทในกลุ่มปตท. ทุกบริษัทจะต้องตั้งเป้าหมาย Net Zero ให้เร็วกว่าที่ประเทศตั้งเป้าไว้ในปี 2065

ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ปตท.จะดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ผ่านมาตรการ 3P คือ 

1. Pursuit of Lower Emissions (เร่งปรับ) คือ ปรับกระบวนการผลิตเพิ่มลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด 

2.Portfolio Transformation (เร่งเปลี่ยน) การลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจใหม่ มุ่งไปสู่พลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจที่นอกเหนือจากพลังงาน 

3.Partnership with Nature and Society (เรงปลูก) การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่าไม้ ซึ่งตอนนี้ปลูกป่าครบ 1 ล้านไร่แล้ว และจะปลูกเพิ่มอีก 2 ล้านไร่

“จากการตั้งวิสัยทัศน์ใหม่ในช่วง 2 ปี เราจะดูแลธุรกิจเดิม พร้อมสร้างธุรกิจใหม่ ตามภารกิจสร้างความมั่นคง ดังนั้น ธุรกิจเดิมที่เป็นพอสซิลกว่า 70-80% จะยังคงมีอยู่ และจะค่อย ๆ เพิ่มพลังงานทดแทน เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจเดิมและจุดประกายธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น โดย ปตท.ต้องเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่วันที่ธุรกิจน้ำมันยังเข้มแข็ง”

พัฒนา New S-Curve ให้ประเทศ

นายอรรถพล กล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดัน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนั้น การมีเวทีให้นักวิจัยที่จะต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมในประเทศสำคัญ ซึ่ง ปตท.เลือกที่จะต่อยอดการลงทุนและขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่และสร้าง New S-Curve ให้ประเทศ

ดังนั้น เป้าหมายพลังงานสะอาดจาก 12,000 เมกะวัตต์ เป็น 15,000 เมกะวัตต์ ปี 2030 ส่วนธุรกิจกักเก็บพลังงาน มีหลายเทคโนโลยี ซึ่ง ปตท.ได้ศึกษางานวิจัยทั่วโลก ทั้งอเมริกาและจีน ซึ่งจีนได้ทำในขนาดเกิกะสเกล ดังนั้น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จะร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อดึงเทคโนโลยีเข้ามา 

อีกทั้ง ยังมีเทคโนโลยีประกอบร่างแบตเตอรี่แพ็ค โดยการนำแบตเตอรี่มาจัดเรียง การวางระบบการจ่ายพลังงานถือเป็นเทคโนโลยี ซึ่งกลุ่ม ปตท.ร่วมมือกับ Gotion บริษัทชั้นนำในจีนที่เชี่ยวชาญแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน

นอกจากนี้ ยังมือกับ บริษัท Contemporary Amperex Technology Co., Ltd (CATL) ตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) ในประเทศไทย เพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเสริมศักยภาพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ซึ่งโรงงานผลิตรถอีวีต้องใช้แบตเตอรี่ โดยลูกค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของ CATL อยู่แล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ ปตท. พยายามผลักดันธุรกิจให้ไปได้ในประเทศ

อีกทั้ง ปตท.ยังผลักดันเทคโนโลยีไฮโดรเจน ซึ่งจะเป็น Next Gen ของการใช้พลังงาน จากการที่ปัจจุบันต้นทุนยังคงสูง ปตท.จึงร่วมมือกับ OR, โตโยต้า และ BIG เปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของไทย ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาทดสอบการใช้งาน

ธุรกิจใหม่พลิกโฉม \'ปตท.\' เร่งสปีด \'อีวี-ยา-โลจิสติกส์-หุ่นยนต์\'

สร้างอีโคซิสเต็มธุรกิจ“อีวี”

นอกจากนี้ ปตท.พร้อมเดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV Value Chain) จากนโยบายภาครัฐที่อยากให้เกิดธุรกิจอีวีในประเทศไทย โดยเริ่มเข้าไปลงทุนเกือบทั้ง Value Chain เพื่อหว่านเมล็ดพันธุ์แม้อาจโตน้อยโตมากในบางต้น ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจใหม่ในประเทศ อาทิ จัดทั้งตั้งโรงงานแบตเตอรี่, โรงงานผลิตและประกอบรถอีวีแบบครบวงจรรูปแบบใหม่, บริการ EV Charger, บริการสวอพ แอนด์ โก บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ และบริการเช่ารถ EVme ที่ปีจุบันมีรถอีวีบริการราว 800 คัน อัตราการเช่า 80%

“การที่ ปตท.เดินหน้าธุรกิจ EV จะช่วยส่งเสริมอีโคซิสเต็มการใช้ในไทย เพราะประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคเอเชียเอเชียด้ายรถสันดาปภายใน หากไม่เร่งดำเนินการจะกลายเป็นผู้ผลิตรถอีวีที่เป็นอันดับสุดท้ายที่เป็นศูนย์กลางการผลิตรถของโลก พอถึงวันที่ดีมานด์หายไป หากไม่มีดีมานด์สำรองประเทศไทยก็จะเหนื่อย”

สร้างธุรกิจใหม่“ยา-การแพทย์”

สำหรับธุรกิจกลุ่มไลฟ์สไตล์ โดยจุดแข็งของไทย คือ บุคลากรทางการแพทย์ ระบบสาธารณสุขที่ดี และเมื่อดูธุรกิจระบบต่างๆ ที่จะรองรับปลายทางในไทยยังน้อย และโรงงานผลิตยาส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตเม็ดหรือบรรจุภัณฑ์ แต่ที่จะผลิตหัวเชื้อมีน้อยมาก ซึ่งถือเป็นความมั่นคงทางยาในลักษณะเดียวกับความมั่นคงทางพลังงาน 

ดังนั้น ปตท.จึงพยายามจับมือกับสถาบันต่าง ๆ ที่มีความรู้ในไทย เพื่อจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง และมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย เช่น การที่กลุ่ม ปตท.ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิจัย ผลิตนวัตกรรมโมเลกุลมณีแดง หรือ RED-GEMs ถือเป็นนวัตกรรมต้านเซลล์ชรา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเริ่มทดลองกับคน และหากสำเร็จแล้วจะเกิดธุรกิจใหม่ในไทย

นอกจากนี้ การที่กลุ่ม ปตท.ได้ลงทุนในบริษัทโลตัส ผู้ผลิตยาที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน ซึ่งประสบความสำเร็จเกี่ยวกับยาต้านมะเร็งที่สหรัฐ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม ปตท. และหากขยายตลาดได้จริงจะเพิ่มช่องทางสร้างศูนย์วิจัยที่ไทย 

ส่วนธุรกิจด้าน Nutrition ได้ก่อตั้งบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน (NRPT) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Innobic และ Nove Foods เพื่อผลิตอาหารประเภท Plant-based เพื่อจำหน่ายในไทยและในภูมิภาคเอเชีย เป็นต้น โดยโรงงานใกล้เสร็จและขณะนี้มีร้านต้นแบบตั้งอยู่ที่ปากซอยสุขุมวิท 55

“ธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ของกลุ่ม ปตท.ตั้งโรงงานวัตถุดิบผลิตหน้ากากอนามัยและชุดแพทย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI และหุ่นยนต์อัตโนมัติ โดยลงทุนด้านดิจิทัล และ Cloud Service ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ตรงกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่จะส่งผลต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศวงกว้าง”

นอกจากนี้ ปตท.จะต่อยอดตัวธุรกิจ LNG ในเรื่องของความเย็นที่นอกจากจะใช้ปลูกสตรอร์เบอรี่แล้ว ความเย็นที่เหลือจะมาสามารถสนับสนุนกลุ่มธุรกิจอาหารได้หรือไม่ 

บุกขนส่งทางรางหนุนโลจิสติกส์

ส่วนระบบรางจะเพิ่มความสามารถด้านศักยภาพระบบรางของประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ซึ่งไทยเหมาะรองรับการขนส่งบนบก เพราะสิงคโปร์เหมาะด้านทะเลเพราะทำเลที่ตั้งดีกว่า แม้บนบกเหมาะแต่พฤติกรรมการขับขี่โดยชิดซ้าย และประเทศเพื่อนบ้านขับชิดขวาจึงทำให้ระบบรางดีสุด ดังนั้น นโยบายรางคู่ควรดำเนินการเพื่อจะสร้างศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม จากการที่จีนได้เพิ่มเส้นทางสายใหม่ฝั่งยุโรปโดยใช้เวลา 10 ปี ส่งผลให้ทุกที่ในจีนสามารถไปถึงยุโรปได้ และจีนได้ลงมาดูเส้นทางในอาเซียน ซึ่งไทยในเชิงยุทธศาสตร์ก็มีคู่แข่งหากมองเส้นอันดามัน จะมีพม่ากับไทย ดังนั้น ปตท.ทำธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ โดยจะเสนอรัฐบาลใหม่เพื่อพัฒนาเส้นทางอย่างเร่งด่วน เพราะจีนมีตัวเลือกหลายทาง

พัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ได้ศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ในพื่นที่อ่าวไทย ซึ่งยังต้องอาศัยภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านกฏระเบียบ ร่วมถึงการนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (CCU) เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ มี 4 โครงการ ได้แก่ โครงการโซเดียม ไบคาร์บอเนต, โครงการ Animal Protein, โครงการ Methanal และโครงการ Nano Calcium Carbonate

“ในส่วนที่เป็นซอฟต์เพาเวอร์เทคโนโลยีที่จะไป คือ แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยหากผู้ประกอบการไทยทำได้จะต้องทำให้การทำคาร์บอนเคดิตเราเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น การมีชื่อในระดับโลก สุดท้ายจะเหมือนกับน้ำมันดิบที่แต่ละแหล่งราคาไม่เท่ากัน ซึ่งคาร์บอนเครดิตก็ไม่จำเป็นต้องราคาเท่ากัน แต่ต้องลงทะเบียนให้รู้จักและซื้อขายได้”