'อินโดฯ-มาเลย์'หนุนเชื้อเพลิงชีวภาพแก้ปัญหาราคาน้ำมันปาล์มดิ่ง

'อินโดฯ-มาเลย์'หนุนเชื้อเพลิงชีวภาพแก้ปัญหาราคาน้ำมันปาล์มดิ่ง

อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มมากที่สุดในโลก โดยน้ำมันปาล์มเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ นอกเหนือจากถ่านหิน

ราคาน้ำมันปาล์มชะลอตัว แนวโน้มตลาดน้ำมันปาล์มย่ำแย่ลง  ประกอบกับมีการต่อต้านสินค้าโภคภัณฑ์ที่สร้างความกังวลเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า เป็นปัจจัยผลักดันให้มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่สุดของโลก ต้องใช้มาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นการใช้น้ำมันปาล์ม ด้วยการพัฒนาเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน และขยายโครงการไบโอดีเซล

นอกจาก น้ำมันปาล์มจะถูกนำไปใช้ทำอาหารและใช้งานด้านอื่น ๆ เช่น ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ดูแล และทำความสะอาด ในอินโดนีเซีย น้ำมันปาล์มยังถูกจัดเป็นสินค้าสำคัญในประเทศนี้ที่ถือเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ทั้งยังมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้หลายล้านคน

อินโดนีเซีย เป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่สุดของโลก และน้ำมันปาล์มเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่อินโดนีเซียส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ นอกเหนือจากถ่านหินและน้ำมันปาล์ม ก็เป็นสินค้าที่สำคัญในมาเลเซียด้วยเช่นกัน โดยมาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มเป็นอันดับ 2 ของโลก

ในช่วงเดือน ม.ค. และมิ.ย. ราคาน้ำมันปาล์มดิบในมาเลเซียอยู่ที่ 3,500-4,200 ริงกิตต่อตัน ถือว่าราคาตกต่ำมาก เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันปาล์มที่พุ่งสูงในเดือน เม.ย. ปี 2565 เกือบ 7,000 ริงกิตต่อตัน หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน ราคาน้ำมันที่บริโภคได้ทั้งหมดก็ปรับตัวพุ่งขึ้น  ซึ่งโดยปกติแล้วราคาน้ำมันปาล์มถูกที่สุดเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ แต่สาเหตุที่ราคาน้ำมันปาล์มพุ่งสูงเช่นนั้น เป็นเพราะการผลิตที่หยุดชะงักในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปลายปี 2563

บีเอ็มไอ อินดัสทรี รีเสิร์ช บริษัทในเครือฟิตช์ กรุ๊ป เผยเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ว่า สินค้าคงคลังในอินเดียและจีนที่เพิ่มขึ้น, การคาดการณ์ผลผลิตถั่วเหลืองอาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดู 2566/67 และช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. ที่อาจมีผลผลิตปาล์มเพิ่มสูงสุด ล้วนเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำมันปาล์มลดลงในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งบีเอ็มไอ คาดการณ์ว่า ในระยะกลางราคาน้ำมันปาล์มโดยเฉลี่ยจะค่อย ๆ ปรับตัวขึ้น

บีเอ็มไอ คาดการณ์ว่า สัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มล่วงหน้าระยะ 3 เดือนที่ตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซามาเลเซีย อาจอยู่ที่ประมาณ 3,800 ริงกิตต่อตัน ลดลงจากปีก่อน ที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 4,910 ริงกิตต่อตัน

\'อินโดฯ-มาเลย์\'หนุนเชื้อเพลิงชีวภาพแก้ปัญหาราคาน้ำมันปาล์มดิ่ง

บีเอ็มไอ คาดการณ์ด้วยว่า ราคาน้ำมันปาล์มจะร่วงลงอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับ 2,400 ริงกิตต่อตัน ในปี 2570 เทียบเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ราคาน้ำมันปาล์มโดยเฉลี่ยเกือบ 2,420 ริงกิตต่อตัน

รัฐบาลอินโดนีเซียมีวิธีแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันปาล์มปรับตัวร่วงลงอย่างแรงหลากหลายวิธี รวมทั้ง การที่สายการบินการูดา ของรัฐบาลอินโดฯ ประกาศเมื่อเดือน ส.ค. ว่า จะเริ่มทดสอบการใช้ “เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน” หรือ “bioavtur” กับเครื่องยนต์ที่ใช้กับเครื่องบินโบอิง รุ่น B737-800 NG และจะมีการทดสอบภาคพื้นดิน รวมทั้งเที่ยวบินต่าง ๆ ตามมา

ทั้งนี้ เชื้อเพลิงเครื่องบินแบบชีวภาพของสายการบินการูดา ได้รับการพัฒนาจากเปอร์ตามินา บริษัทน้ำมันของรัฐบาลอินโดนีเซีย และสถาบันเทคโนโลยีบันดุง

นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว อินโดนีเซียได้ขยายโครงการไบโอดีเซล B35 ที่ผลิตโดยเปอร์ตามินาไปทั่วประเทศ หลังจากเริ่มโครงการไปบางส่วนเมื่อเดือน ก.พ.

ไบโอดีเซล B35 เป็นเชื้อเพลิงใช้น้ำมันปาล์มผสมกับดีเซลมากกว่าไบโอดีเซล B30 ที่เปิดตัวช่วงต้นปี 2563 และเป้าหมายต่อไปของอินโดนีเซียคือผลิตไบโอดีเซล B40 ภายในปี 2573

ด้าน “ยูซุฟ เรนดี มานิเลต” นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์ปฏิรูปเศรษฐศาสตร์ สถาบันคลังสมองของอินโดนีเซีย มีความเห็นว่า การดำเนินนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพของอินโดนีเซียเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

มานิเลต ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย ว่า “เป้าหมายของรัฐบาลอินโดนีเซีย คือลดการพึ่งพาน้ำมันนำเข้า ด้วยการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงชีวภาพในระยะยาว ถ้าเชื้อเพลิงชีวภาพในอินโดนีเซียเพิ่มมากขึ้น และนำเข้าน้ำมันลดลง เชื้อเพลิงชีวภาพจะสามารถเข้าถึงได้ง่าย และส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น”

ขณะที่มาเลเซียเองก็กำลังมองหาทางออกให้กับเชื้อเพลิงชีวภาพของตนเองเช่นกัน โดย"มาเลเซียน ปาล์ม ออย บอร์ด" และ"ปิโตรนาส" บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของมาเลเซีย ลงนามข้อตกลงเพื่อศึกษาการใช้น้ำมันสำหรับทำอาหาร และน้ำมันปาล์มเหลือใช้ ให้เป็นเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

ส่วนแผนการเปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งชาติของมาเลเซีย ระยะที่2 ที่เปิดเผยเมื่อเดือนก่อน รัฐบาลได้มีคำสั่งใช้ไบโอดีเซล B30 ในยานพาหนะหนัก หรือรถบรรทุกภายในปี 2573 หลังเปิดตัวใช้งานเชื้อเพลิงดังกล่าวภายในปี 2568 ไว้ในแผน

อย่างไรก็ตาม บีเอ็มไอ เตือนว่า การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เพิ่มขึ้น อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ใช้บริโภคทั้งหมด

“อัตราการเปลี่ยนน้ำมันปาล์มไปสู่การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพแบบผสมที่เพิ่มมากขึ้น หรือการเปลี่ยนไปใช้น้ำมันพืชทางเลือกไปผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น เช่น น้ำมันถั่วเหลือง อาจทำให้อุปทานน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารเพื่อการบริโภคขาดแคลน” บีเอ็มไอ กล่าว

บีเอ็มไอ เสริมอีกว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภาวะแล้งขั้นรุนแรง และทำให้สภาพอากาศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร้อนมากขึ้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับผลผลิตน้ำมันปาล์มในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า

บีเอ็มไอ ยกตัวอย่างปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2557-2559 ว่า เป็นหนึ่งในสภาพอากาศรุนแรงที่สุดในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ผลผลิตน้ำมันปาล์มในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ลดลงเป็นตัวเลขสองหลักในช่วงปี 2558-2559 ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันปาล์ม ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น 1,000 ริงกิตต่อตันในช่วงเวลาดังกล่าว