‘พิมพ์ภัทรา’ เข้ากระทรวงวันแรก ย้ำนโยบาย EV-EEC ขยายผลระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค
“พิมพ์ภัทรา” เข้ากระทรวงอุตสาหกรรมวันแรก สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง ลุยผลักดันต่อนโยบายส่งเสริมรถ EV และ EEC ขยายผลระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค เร่งอำนวยความสะดวกดึงลงทุนอุตฯ เป้าหมาย
วันที่ 7 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถือฤกษ์เวลา 07.59 น. เดินทางเข้าสักการะไหว้พระภูมิเจ้าที่ พระนารายณ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นสิริมงคลเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง โดยมีผู้บริหารระดับสูงและข้าราชการจากทุกกรมที่มาต้อนรับ
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นโยบายเร่งด่วนที่จะเร่งดำเนินการทันทีใน 3 เดือนแรก คือการผลักดันมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV3.5) ที่กำหนดการให้ส่วนลดราคารถยนต์อีวีนำเข้า การกำหนดให้ค่ายรถตั้งโรงงานผลิตอีวี ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์ดึงการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวี
“ซึ่งมาตรการส่งเสริมรถอีวีเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลตอบรับในการทำนโยบายกับพรรคร่วม รวมถึงนโยบายระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ที่ต้องการให้เกิดการขยายผลต่อเนื่องจากนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)”
โดยจะเร่งขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกหลักในการยกระดับเศรษฐกิจ สนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ ให้เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นจีดีพีประเทศ กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์อุตสาหกรรมฮาลาล และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
“โดยจะเร่งผลักดันการลดอุปสรรคด้านกฎหมายกฎระเบียบ และอำนวยความสะดวก รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามา โดยจะมีการบูรณาการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน”
นอกจากนี้ ได้เตรียมเจรจาข้อสรุปคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ดลิมิเต็ด เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ก่อนจะมีการนัดอ่านคำตัดสินชี้ขาดวันที่ 31 ธ.ค. 2566
ขณะเดียวกัน พร้อมการยกระดับการให้บริการคุณภาพ ส่งเสริมการเข้าถึงของผู้ประกอบการและประชาชน ด้วย One Stop Service ซึ่งจะได้ปรับแก้ข้อจำกัดที่มีอยู่ให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ยังได้เน้นย้ำให้ทุกการดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมายอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การวางระบบดูแลควบคุม และกำจัดของเสียในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน การใช้พลังงานทางเลือกสู่การเป็น อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ (Bio Circular Economy) ซึ่งจะได้หารือเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon Industry) ในลำดับต่อไป