ผลไม้ใต้ เพิ่มขึ้น 68 %ลองกองมากสุดจ่อล้นตลาดจุกๆ ก.ย. นี้
สศก. ผลไม้ใต้ปี66 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 68%รวม 8.5แสนตัน ลองกองออกตลาดมากสุด ก.ย.นี้ จากสภาพอากาศเอื้ออำนวย สภาพต้นสมบูรณ์ คาดปีหน้าผลผลิตจ่อลดจากเอลนีโญ
นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี(สศท.8)สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ผลสรุปข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคใต้ ปี 2566 (ข้อมูล ณ ส.ค. 2566) 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 14 จังหวัด คือ
ชุมพร สุราษฎร์ธานีนครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส คาดว่า ปีนี้เนื้อที่ยืนต้น1,139,056 ไร่เพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว 2% เนื้อที่ให้ผล 948,949 ไร่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2% ผลผลิตทั้งในฤดูและนอกฤดูรวม 848,921 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 68% แยกเป็นผลผลิตในฤดู 768,688ตัน นอกฤดู 80,233ตัน
สำหรับภาพรวมเนื้อที่ยืนต้น เนื้อที่ให้ผล และผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรโค่นยางพารา ปาล์มน้ำมัน มังคุด เงาะ และลองกอง เปลี่ยนมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวย สภาพต้นสมบูรณ์ ทำให้การออกดอกดีกว่าปีที่ผ่านมา
หากพิจารณาภาพรวมไม้ผลทั้ง4ชนิด พบว่าเนื้อที่ยืนต้น ทุเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรปลูกเพิ่ม โดยมีการปลูกทุเรียนทดแทนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปลูกเพิ่มในพื้นที่ว่างขณะที่ลองกอง เงาะ และมังคุดลดลงเนื้อที่ให้ผล ทุเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง
ส่งผลให้เกษตรกรปลูกเพิ่มและโค่นต้นเงาะ มังคุด และลองกอง เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่า จึงส่งผลให้เนื้อที่ให้ผลลดลงทั้ง 3 ชนิดผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นทุกชนิด เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยกว่าปีที่ผ่านมา
สำหรับผลผลิตไม้ผลภาคใต้ในพื้นที่ 14 จังหวัด ขณะนี้ออกผลผลิตรวม 4 ชนิด ทั้งในฤดูและนอกฤดูไปแล้ว (ม.ค. - ส.ค. 66) จำนวน 608,333ต้น หรือ 72% ของผลผลิตทั้งหมดโดยในเดือนกันยายนนี้ ผลผลิตลองกองออกสู่ตลาดมากที่สุด 16,245ตัน หรือ 47%ของผลผลิตทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลผลิตในฤดู และทุเรียน
จะออกสู่ตลาดเดือน ก.ย.นี้ 15% มังคุด 21% และเงาะ 19% ทั้งนี้ ผลผลิตของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด จะออกสู่ตลาดต่อเนื่องถึงเดือน ธ.ค. 2566
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ไม้ผลทั้ง 4 ชนิดจะมีผลผลิตมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย สภาพต้นสมบูรณ์ ทำให้การออกดอกดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือต้องเตรียมการรับมือกับปรากฏการณ์เอลนีโญ เนื่องจากประเทศไทยเริ่มมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ตั้งแต่ปลายปี 2566 และจะเข้าสู่ปรากฏการณ์นี้อย่างสมบูรณ์ในปี 2567 - 2568
โดยจะส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับอุณหภูมิและคลื่นความร้อนที่สูงขึ้น ฝนทิ้งช่วงปริมาณน้ำฝนที่ตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและในเขื่อนลดลง ซึ่งนำไปสู่ภาวะภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ โดยเกษตรควรมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่สวนหรือฟาร์มของตนเองให้เพียงพอและเหมาะสมกับพืชที่ปลูกด้วย เพื่อให้ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญน้อยที่สุด เช่น การใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การหาแหล่งน้ำสำรอง การขุดบ่อขุดสระ นอกเหนือจากติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและการรับสนับสนุนช่วยเหลือจากทางภาครัฐ