กกร.จี้รัฐบาลพยุงจีดีพี 3% แนะเร่งคลอดมาตรการกระตุ้น
กกร.ชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงอย่างชัดเจน หั่นเป้าจีดีพีไทยปีนี้โต 2.5-3.0% ส่งออกอยู่ในแดนลบ หดตัว 0.5-2% หวังรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนมาตรการลดค่าครองชีพทันที แนะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและท่องเที่ยว โดยเฉพาะฟรีวีซ่า เพิ่มเที่ยวบิน พยุงเศรษฐกิจปีนี้ 3% ให้ได้
ถึงแม้จะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ แต่มีหลายภารกิจที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการทันที โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566 ซึ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นจากการส่งออกที่ยังคงชะลอตัว รวมถึงงภาคการท่องเที่ยวที่พบว่ารายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังอยู่ในระดับต่ำ
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย มีแผนที่จะขอเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผลักดันเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566 เพื่อให้จีดีพียังคงขยายตัวตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประสานกับ กกร.ถึงการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเสนอรัฐบาลให้มีการประชุมทุก 6 เดือนรวมทั้งพิจารณาทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคของภาคเอกชนทั้งระดับกลุ่มจังหวัดและระดับจังหวัด เพื่อมาบูรณาการร่วมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ของภาครัฐ
นอกจากนี้ กกร.จะมีการสรุปข้อเสนออีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้เคยยื่นข้อเสนอให้พรรคการเมืองถึงแนวทางการแก้ปัญหาประเทศไปแล้ว
การประชุม กกร.เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2566 ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี โดยการเร่งรัดมาตรการด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ประกาศไว้จึงมีความจ่าเป็น ได้แก่ การลดภาระรายจ่ายค่าไฟและราคาน้ำมัน รวมถึงการการผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน รวมทั้งมีการพิจารณามาตรการอื่นที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 2566 เพื่อพยุงจีดีพีไว้ที่ 3% ดังนี้
1.เร่งออกมาตรการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังดำเนินการ เช่น ฟรีวีซ่าชั่วคราวสำหรับนักท่องเที่ยวจากบางประเทศ เพื่อให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน
2.มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย โดยจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปที่ยังตำกว่าปกติถึง30%
3.ส่งเสริมการส่งออกไปตลาดที่ยังเติบโตได้ เช่น ตะวันออกกลาง กลุ่มกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) รวมทั้งหาตลาดที่ยังพอมีศักยภาพเพื่อไม่ให้มูลค่าการส่งออกติดลบเกิน 2% เช่น ญี่ปุ่น
4.มาตรการแก้ปัญหาหนี้ โดยเร่งจัดท่ามาตรการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านรายได้ให้กับ SMEs และครัวเรือนเพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน รวมถึงพิจารณาหากลไกในการรวมศูนย์หนี้ให้มีการก่ากับดูแลอยู่บนมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้การจัดการกับปัญหาหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และทั่วถึง
เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงชัดเจน
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุม กกร.ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด กกร.จึงปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่าจะมีแนวโน้มเติบโตได้ที่ 2.5-3.0% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิม เนื่องจาดเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 เติบโตเพียง 1.8% ต่ำกว่าที่คาดไว้มากว่าจะอยู่ที่ 3.1%
โดยภาคเศรษฐกิจที่อ่อนแรง ได้แก่ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่มีการหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมา 10 เดือน และติดลบแทบทุกหมวด ทำให้คาดว่าการส่งออกทั้งปีจะอยู่ในแดนลบ หดตัวอยู่ในกรอบ 0.5-2.0% ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวต่อเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีแนวโน้มล่าช้า
ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยว พบว่ายังต่ำกว่าที่คาดเนื่องจากการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต่ำกว่าปกติอยู่ราว13% และค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของคนไทยที่เที่ยวในประเทศ ลดลงจากปกติราว 30%
ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันสำคัญจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ในเดือน ส.ค.ของประเทศหลักยังหดตัว ขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจในภาคบริการอ่อนแรงลงต่อเนื่อง
โดยเฉพาะจุดเปราะบางสำคัญคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้และกำลังซื้อที่หดตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 5% เท่านั้นและมีแนวโน้มจะลดลงในปีหน้า เศรษฐกิจโลกจึงได้รับแรงกดดันและส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยยังมีอุปสรรคในการฟื้นตัว
ท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์หลัก
อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสที่เหลือ ที่ประชุมกกร.มองว่า การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน จึงเสนอให้มีการเร่งรัดและออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะมาตรการ ฟรีวีซ่าโดยเร็ว รวมทั้งการเพิ่มเที่ยวบิน และการประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าประเทศอย่างปลอดภัย
“กกร.มองว่าการทำฟรีวีซ่าของรัฐบาลเป็นการกระตุ้นได้ถูกจุดและเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ควรทำทันทีแม้ว่าบางฝ่ายจะมองในเรื่องของปัญหาความมั่นคงก็ตามเนื่องจากการท่องเที่ยวกำลังเข้าสู่ไฮซีซันในช่วงช่วงปลายปีดังนั้นการดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าจะมีส่วนผลักดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมีโอกาสขยายตัวได้มากยิ่งขึ้น”
แนะเพิ่มมาตรการพยุงเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ รัฐควรมีมาตรการเพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังสามารถเติบโตได้ โดยการเร่งขับเคลื่อยมาตรการด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ ในระยะสั้นเร่งลดภาระค่าครองชีพ รายจ่ายค่าไฟและราคาน้ำมันเพื่อกำลังซื้อในประเทศ การผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน
ขณะเดียวกัน ยังต้องพิจารณามาตรการเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตได้ รวมถึงเร่งจัดทำมาตรการเพื่อเสริมสร้างรายได้ ให้กับ SMEs และครัวเรือนเพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน
กกร.ห่วงส่งออกไทยไม่ฟื้น
นายผยง กล่าวว่า กกร.มีความกังวลกับสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากกำลังซื้อในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงทำให้ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่เข้ามาแย่งตลาดและส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอตัว ประกอบกับสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานทะลักเข้ามาแข่งขันและแย่งกำลังซื้อของตลาดในประเทศทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยเบื้องต้นมี 20 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบมียอดขายลดลง และหากไม่มีมาตรการกำกับดูแลสินค้านำเข้าดังกล่าว ผลกระทบอาจจะขยายวงกว้างไปมากกว่านี้
ดังนั้น กกร.จึงเสนอขอให้ภาครัฐเข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานโดยผ่านกลไกจากทั้งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และกรมศุลกากร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันควรต้องมีการสนับสนุนผู้ส่งออก อำนวยความสะดวกให้พิธีการศุลกากรมีความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น
แนะเร่งแก้ปากท้องประชาชน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า สำหรับนโยบายการขึ้นค่าแรง 600 บาทนั้น มีกรอบระยะเวลาอีก 4 ปี คือภายในปี 2570 ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางจากต้นทุนประกอบการที่สูงมากทุกด้านอยู่แล้ว ทั้งค่าพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า และภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงที่เป็นต้นทุนทางการเงิน
ดังนั้นจึงเชื่อว่านโนยบายสำคัญที่รัฐบาลจะเร่งผลักดันก่อนจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน การลดค่าครองชีพเพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าและเพิ่มกำลังซื้อ
รวมทั้งการใช้มาตรการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จากนั้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้วค่อยมาคุยกันเรื่องขึ้นค่าแรงจึงจะเหมาะสม โดยการขึ้นค่าแรงควรจะเป็นไปตามกลไกไตรภาคีที่ร่วมกันกำหนดจากนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ตามศักยภาพในการเติบโตของแต่ละพื้นที่ด้วย
“ภาคเอกชนรอติดตามการแถลงนโยบายของภาครัฐว่าจะนำไปสู่การขับเคลื่อนได้เร็วแค่ไหน และให้น้ำหนักกับการเติบโตของเศรษฐกิจเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ โดยหวังว่าจะเห็นการร่วมมือกันของทีมเศรษฐกิจของพรรคร่วมรัฐบาลดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งเอกชนพร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และรับมือกับตัวแปรสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนจากสงครามที่อาจทวีความรุนแรง” นายเกรียงไกร กล่าว