SCB หวั่น ‘เงินดิจิทัล’ เพิ่มภาระการคลัง

SCB หวั่น ‘เงินดิจิทัล’ เพิ่มภาระการคลัง

EIC ปรับคาดการณ์จีดีพีของปีนี้ลงเหลือ 3.1% จากเดิม 3.9% มีปัจจัยหลักจากเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดไว้มาก โดยเติบโตเพียง 1.8% และการส่งออกสินค้าที่หดตัวแรงต่อเนื่อง 

รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ระบุ EIC ปรับคาดการณ์จีดีพีของปีนี้ลงเหลือ 3.1% จากเดิม 3.9% มีปัจจัยหลักจากเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดไว้มาก โดยเติบโตเพียง 1.8% และการส่งออกสินค้าที่หดตัวแรงต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ การคาดการณ์จีดีพีดังกล่าวยังไม่รวมปัจจัยบวกจากเงินดิจิทัลที่จะหนุนให้เศรษฐกิจปี 2566 เร่งตัวขึ้นไปถึง 5-6% แต่เหตุที่ยังไม่ใส่ในประมาณการปี 2567 เพราะนโยบายยังไม่ชัดเจนว่าจะมีรูปแบบใด รวมถึงเงินจะมาจากไหน 

ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จะเป็นนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น แต่ต้องแลกกับภาระการคลังระยะยาวที่จะเพิ่มในช่วง 10 ปี การใช้เม็ดเงินภาครัฐจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจะบั่นทอนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงเกินเพดานหนี้ที่ 70% ของ GDP เร็วขึ้นประมาณ 2 ปี ซึ่งอาจจะกระทบพื้นที่การคลังเพื่อรองรับความไม่แน่นอนข้างหน้าและเสถียรภาพการคลังของประเทศได้

คาดจีดีพีปี 67 โต 3.5%

สำหรับเศรษฐกิจปี 2566 ยังมีแรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยฟื้นตัวดีตามประมาณการ 30 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางที่เร่งตัวและเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายใหม่ ส่งผลให้ภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องช่วยลดความเปราะบางในตลาดแรงงาน 

สำหรับมุมมองปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเร่งขึ้นที่ 3.5% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน 

การลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) และการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัว

ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินช่วงปลายเดือน ก.ย. สู่จุดสูงสุดของวัฏจักรดอกเบี้ย (Terminal rate) รอบนี้ที่ 2.5% ตามเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเข้าสู่ระดับศักยภาพ และเงินเฟ้อที่ยังมีแรงกดดันจากราคาพลังงานและอาหารที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงจะกลับเป็นบวกได้ ช่วยสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวจากการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมานาน