อุตฯ การบินชี้จุดอ่อนเชื้อเพลิง SAF หันเร่งเทคโนโลยีสู่เป้าหมาย Net Zero

อุตฯ การบินชี้จุดอ่อนเชื้อเพลิง SAF หันเร่งเทคโนโลยีสู่เป้าหมาย Net Zero

การปล่อยคาร์บอนซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุปัญหาโลกร้อนและกำลังจะเป็นโลกเดือดนั้นทุกคนและทุกภาคส่วนมีส่วนสร้างปัญหาดังกล่าวทั้งสิน

ดั้งนั้น ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย และเนชั่นกรุ๊ป จัดสัมมนา “Road to Net Zero โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ” ซึ่งธุรกิจการบินได้ร่วมงานครั้งนี้และฉายภาพอุตสาหกรรมการบินกับการลดคาร์บอนไว้อย่างน่าสนใจ 

หม่า ตาว ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กล่าวว่า  ICAO ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางระหว่างประเทศภาคีสมาชิกจำนวนกว่า 190 ประเทศ ในการออกกฎระเบียบและมาตรฐานข้อปฏิบัติด้านการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนเป็นศูนย์ (net zero goal) ในอุตสาหกรรมการบินพลเรือนภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ต้องใช้การทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาความคิดใหม่ๆ และเร่งกระบวนการนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้

ท่าทีของหน่วยงานด้านกฎระเบียบได้แสดงความชัดเจนอย่างเอาจริงเอาจังต่อปัญหาโลกร้อนและพร้อมสนับสนุนแผนคาร์บอนเป็นศูนย์แล้ว ด้านหน่วยหนึ่งของธุรกิจการบินอย่างสนามบินได้แสดงเจตนารมณ์ที่ไม่ต่างกัน 

กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ร่วมเสวนาในหัวข้อ Aviation Ecosystem Road to Net Zero ทิศทางธุรกิจการบินที่ยั่งยืน โดยระบุว่า ทิศทางพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนของ ทอท.บริหาร 6 สนามบินหลัก ครองสัดส่วนการบินคิดเป็น 95% ของประเทศ ต้องเตรียมพร้อมด้านนโยบาย รองรับการแข่งขันทางการค้า กลไกทางการตลาดที่เรียกว่า กำแพงกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ทอท.จึงมีการกำหนดเป้าหมายภายใน 2 ปี เราต้องการเป็น CO2 Neutral Growth คือ การเดินหน้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าเดิม ต้องไม่เพิ่มขึ้น หลังจากนั้นใน 4 ปี ต้องลดลงให้ได้ 50% จาก 3 แสนตันและ 10 ปี ต้องเป็นกลายเป็น 0”

ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 – 3 แสนตันต่อปี โดยมาจากเครื่องบินอีก 1 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 5% ของภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปัจจุบันทั่วโลกตื่นตัวเรื่องนี้ ดังนั้นหาก ทอท.ไม่มีมาตรการรองรับ ก็เสี่ยงที่จะโดนกีดกันทางการค้า ซึ่งอาจกระทบในมาตรการการลดไฟล์ตที่มายังสนามบินที่ไม่ใช่กรีนแอร์พอร์ต หรือสนามบินที่ไม่มีเชื้อเพลิงยั่งยืนให้เติม ดังนั้นเป้าหมายของ ทอท.จึงต้องการเป็น Net Zero ภายใน 10 ปี

อุตฯ การบินชี้จุดอ่อนเชื้อเพลิง SAF หันเร่งเทคโนโลยีสู่เป้าหมาย Net Zero

กลยุทธ์อย่างหนึ่งคือ การส่งเสริมและผลักดันน้ำมันเชื้อเพลิงยั่งยืน Sustainable Aviation Fuel (SAF) เป็นน้ำมันที่ผลิตมาจากต้นพืช น้ำมันพืชที่ใช้แล้วนำมากลั่นใหม่ แต่ปัจจุบันยังไม่มีผลิตในไทยปัจจุบัน จึงมีราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงปกติประมาณ 8 เท่า ดังนั้น ทอท.จะมองหาพันธมิตรในการพัฒนา SAF ในไทย เพื่อให้ต้นทุนลดลงเหลือ 2.2 เท่า

“ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปมีเงื่อนไขกำหนดว่าภายในปี 2025 สายการบินต้องมีน้ำมัน SAF ผสมอยู่ในกระบวนการผลิตน้ำมันเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการบินราว 2% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกปี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของไทยที่จะพัฒนาน้ำมันนี้ ทำให้การลงทุนและสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ แต่ส่วนสำคัญจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน”

ด้านชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า ปัจจุบันการบินไทยมีส่วนร่วมปรับตัวในเรื่องลดคาร์บอนร่วมกับ ICAO องค์กรด้านการบินอย่างอื่น อาทิ Corsia EU ETS และ CAAT อีกทั้งยังปรับตัวภายในองค์กร เช่น การนำขวดน้ำดื่มบนเครื่องบินไปพัฒนาเป็นเสื้อพนักงาน เพื่อส่งเสริมการลดโลกร้อน และการบินไทยยังมีส่วนร่วมในการลดการใช้น้ำมันเครื่องบินด้วย

โดยแผนลดใช้น้ำมัน ปัจจุบันการบินไทยใช้เครื่องบินที่มีเทคโนโลยีการใช้น้ำมันประหยัดและมีประสิทธิภาพของโลก อีกทั้งยังปรับฝูงบินเพื่อลดการใช้เครื่องบิน ประหยัดการใช้พลังงานแต่มีขีดความสามารถทำธุรกิจสูงขึ้น และยังมีการวางแผนการบิน ว่าเส้นทางใดที่จะทำการบินต้องคำนวณการใช้น้ำมันก่อนบิน โดยจะคำนึงถึงการใช้น้ำมันให้น้อยที่สุด และไม่แบกน้ำมันไปจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เปลืองพลังงานการบิน

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมัน SAF ในฝูงบินของการบินไทย โดยได้เริ่มต้นใช้น้ำมัน SAF ในปีนี้ปริมาณ 1.6 ล้านตัน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2025 ปริมาณ 2.2 ล้านตัน ซึ่งผลแตกต่างของการใช้น้ำมัน SAF และน้ำมันเชื้อเพลิงปกติ หากใช้น้ำมัน SAF 1% จะมีส่วนต่างต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.5 พันล้านบาท ดังนั้นหากการบินไทยเพิ่มปริมาณน้ำมัน SAF 10% ก็ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.5 หมื่นล้านบาท

“โรดแมพของการบินไทย 2025 จะต้องใช้ SAF 2% ของปริมาณน้ำมันที่ใช้การบินทั้งหมด และเพิ่มต่อเนื่องเพื่อผลักดันเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 โดยอาจจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 60% แต่เป้าหมายเหล่านี้ปัจจุบันยังไม่มีการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ หากเทียบกับการเติมน้ำมันของรถยนต์ที่มีการเติมน้ำมันด้วยเอทานอลที่ถูกกว่าน้ำมันปกติ ซึ่งราคาถูกลงเพราะรัฐบาลสนับสนุน ต่างกับ SAF ราคาต้นทุนในสิงคโปร์สูงกว่าน้ำมันปกติ 3 เท่ากว่า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของสายการบินเพิ่มขึ้น”

ดังนั้น ถึงเวลานี้ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจว่าน้ำมัน SAF มีต้นทุนราคาแพง แต่สายการบินจะทำยังไงให้คุ้มค่าหากจำเป็นต้องนำมาใช้ โดยภาครัฐก็ต้องมีวิธีการโปรโมทให้มีการใช้น้ำมัน SAF ควบคู่ไปด้วย

จากวงสัมมนาด้านความยั่งยืน ในส่วนของอุตสาหกรรมการบิน ได้เผยให้เห็นทิศทางการพัฒนาของธุรกิจที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืนแต่แค่เริ่มต้นก็เห็นอุปสรรคแล้วนั่นคือ “ราคาน้ำมัน SAF” ที่ยังสูงมาก ดังนั้นเพื่อให้เป้าหมายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง จะต้องให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนทันทีและให้ได้มากที่สุดด้วย