กรมพัฒน์ เปิดโพย 10 สินค้าชุมชนวางขาย 3 สนามบิน 9ปีโกยเงิน 634 ล้านบาท
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดโพย 10 สินค้าสุดปัง นักท่องเที่ยวแห่ซื้อเป็นของฝาก ของที่ระลึก และใช้เอง หลังจับมือ 3 สนามบินนานาชาติของไทย 3 แห่ง เปิดบูธวางขาย เผย “มะขามหวานอบแห้งแกะเมล็ด” แชมป์ ตามด้วยผ้าห่มผ้าฝ้าย น้ำมันเหลือง ส่วนยอดขายรวม 9 ปี ทำเงินได้กว่า 634 ล้านบาท
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557-2565 กรมได้นำผลิตภัณฑ์ชุมชนจำนวน 2,375 รายการ จากผู้ประกอบการสินค้าชุมชน 112 ราย เข้าไปวางจำหน่าย ณ สนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต และดอนเมือง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อกลับไปเป็นของฝาก ของที่ระลึก หรือใช้เอง โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สนับสนุนพื้นที่ และ บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด ผู้บริหารจัดการร้านค้าในสนามบิน สามารถสร้างยอดขายรวมมากกว่า 630 ล้านบาท แบ่งเป็น สุวรรณภูมิ 490 ล้านบาท ภูเก็ต 119 ล้านบาท และดอนเมือง 21 ล้านบาท และนอกจากช่องทางการขายในสนามบินแล้ว ยังคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ www.kingpower.com ได้รวมกว่า 4 ล้านบาทด้วย
สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ มะขามหวานอบแห้งแกะเมล็ด ผ้าห่มผ้าฝ้าย น้ำมันเหลือง กรอบรูปไม้สัก กระโปรงปักเลื่อม น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ยาหม่องเขียว ผ้าไหมคลุมไหล่ แชมพูสมุนไพร (มะกรูด) และก้านไม้หอมระเหย ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมผลิตภัณฑ์ไทยที่ไม่เพียงแค่งดงาม แต่แสดงถึงอัตลักษณ์โดดเด่นที่มีคุณภาพ และรสนิยม
“กรมพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชนให้มีโอกาสด้านการตลาดที่หลากหลาย โดยช่องทางการจำหน่ายในท่าอากาศยานเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กรมและหน่วยงานพันธมิตรได้ร่วมกันคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นตามหลักการ DBD SMART Local ให้มีโอกาสขยายตลาดในระดับสากล รวมถึงเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการชุมชนก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศให้มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน”นายทศพลกล่าว
ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีเป้าหมายสำคัญในการพลิกโฉมการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนตามแนวทาง DBD SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น ด้วยการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์และคุณค่า นำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีจุดเด่นและความแตกต่าง เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและเชื่อมโยงช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD SMART Local ที่มีภาพลักษณ์ที่ดี และความพร้อมทางการตลาดให้มีโอกาสได้จำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ สนามบินนานาชาติ และช่องทางออนไลน์