ลุ้น 'พีระพันธุ์' ชง 'ครม' เคาะชื่อ 'ผู้ว่าฯ กฟผ.'
จับตา "พีระพันธุ์" เสนอ ครม. แต่งตั้ง "เทพรัตน์" นั่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กฟผ. ท่านใหม่แทน "บุญญนิตย์" ที่ครบวาระตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา
รายงานข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า ภายหลังนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการในมาตรการเร่งด่วนคือลดราคาน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 29.94 บาท และค่าไฟฟ้ารอบเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 เหลือหน่วยละ 3.99 บาท ไปแล้วนั้น ยังเหลือตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. ท่านใหม่ที่ยังคงรอการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เพราะก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวไว้ว่า เรื่องของราคาน้ำมันกับค่าไฟถือเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่าการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ.
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เชื่อว่านายพีระพันธุ์ จะนำเสนอนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เข้าที่ประชุมครม. เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ (คนที่ 16) แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ที่ครบวาระในวันที่ 21 ส.ค.2566 เพราะการสรรหาถือเป็นไปตามกระบวนการทุกขั้นตอน ดังนั้น ก็ควรถึงเวลาแล้วที่ครม. จะเห็นชอบอีกครั้ง ภายหลังจาก ครม. รักษาการ เคยเห็นชอบ แต่ก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ เพราะติดตรงที่เป็น ครม. รักษาการ
สำหรับกระบวนการสรรหาผู้ว่าฯ กฟผ. ได้ผ่านขั้นตอนการสรรหาโดยมีนางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กรรมการ กฟผ. เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ ซึ่งได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2566 โดยกรรมการส่วนใหญ่ได้ลงคะแนนให้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการ ประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ รองลงมาเป็น นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการ เชื้อเพลิง กฟผ.
นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 2 คน ต้องผ่านคณะอนุกรรมการเจรจาค่าตอบแทน เพื่อเจรจาค่าตอบแทนที่จะได้รับ ตามหลักต้องเจรจาต่อรองกับอันดับที่ 1 ก่อน หากไม่สามารถตกลงได้ถึงจะเจรจากับอันดับที่ 2 ซึ่งปรากฎว่าการเจรจาต่อรองเรื่องค่าตอบแทนสามารถตกลงกันได้ ในอับดับที่ 1 เท่ากับว่า นายเทพรัตน์ ยอมรับผลการเจรจาค่าตอบแทน ซึ่งบอร์ด กฟผ.จึงไม่จำเป็นจะต้องโหวตแต่อย่างใด เพราะมีกระบวนการทุกขั้นตอน ก่อนเข้าบอร์ด กฟผ.
นอกจากนี้ คณะกรรมการบอร์ด กฟผ. ที่มี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ก็ได้มีมติเห็นชอบ วันที่ 8 มี.ค. 2566 เลือก นายเทพรัตน์ ตามที่คณะกรรมการสรหาเสนอ ซึ่ง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นำเสนอ ครม. ในช่วงที่เป็น ครม.รักษาการ จึงต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้เห็นชอบ ซึ่งต่อมา กกต.เองได้ระบุว่าให้รอรัฐบาลใหม่เป็นผู้อนุมัติจนมาถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการนำเสนอ ครม.ใหม่เห็นชอบแต่อย่างใด
อนึ่ง สำหรับการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ครั้งนี้ดำเนินการตามข้อบังคับ กฟผ.ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ คณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทนของผู้ว่าการ และคณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ว่า ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.2563
ทั้งนี้ การจัดตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการกำหนดให้มีการสรรหาผู้ว่าการอย่างโปร่งใส เป็นธรรมและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ว่าการ
ข้อกำหนดดังกล่าวได้ระบุถึงความเป็นอิสระ โดยครอบคลุมการแสดงความเห็นหรือรายงานอย่างเป็นอิสระตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือตำแหน่ง หน้าที่ และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ๆ และไม่มีสถานการณ์ ๆ ที่สามารถบังคับให้ไม่แสดงความเห็นตามที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ ต้องดำเนินการให้มีการแต่งตั้งและจ้างผู้ว่าการให้เสร็จภายใน 1 ปี นับจากวันที่ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง