เปิดข้อมูล”นอมินี”ปี66 ธุรกิจอสังหาฯ ท่องเที่ยว รีสอร์ท ติดโผอันดับต้น
เปิดธุรกิจยอดฮิต นอมินี ปี 66 ”อสังหา ท่องเที่ยว โรงแรมรีสอร์ท ค้าปลีก ค้าส่ง”กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยปีงบ 66 ตรวจสอบ “นอมินี” 3 ธุรกิจเสี่ยง 9 จังหวัดรวม 439 ราย พบที่เชียงใหม่ และชลบุรี เข้าข่าย โดยมีผู้ถือหุ้นคนไทย 2 รายถือหุ้นใน 269 บริษัท
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เดินหน้าตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนต่างชาติมักใช้คนไทยเป็นผู้ถือหุ้นในการทำธุรกิจต่าง บางธุรกิจก็ใช้เป็นฐานสำคัญต่อการกระทำความผิดกฎหมายมากมายหลายรูปแบบ ล่าสุดเป็นข่าวใหญ่เมื่อต้นปีเมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีอาจมีนักท่องเที่ยวแอบแฝงเข้าทำธุรกิจหลากหลายประเภทในย่านเยาวราช เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าขาย ฯลฯ ในรูปแบบการลงทุนผ่านนอมินี ทำให้รัฐบาลก่อนหน้านี้”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ต้องสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไล่เช็กธุรกิจดังกล่าวเพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฏหมาย
“จิตรกร ว่องเขตกร” รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ข้อมูลถึงการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี ในปีงบประมาณ 2566 ว่า ได้ตรวจสอบธุรกิจทั้งสิ้น 439 ราย ใน 3 กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท พื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพฯ โดยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ผลการตรวจสอบในเบื้องต้นพบนิติบุคคลที่อาจกระทำความผิดนอมินีในจังหวัดเชียงใหม่ และชลบุรี โดยพบถือหุ้นคนไทย 2 ราย มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ใน 269 บริษัท เป็น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 60 ราย ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง 6 ราย ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ท 4 ราย ธุรกิจบริการ 184 ราย และธุรกิจอื่นๆ เช่น ค้าส่ง/ค้าปลีก ขนส่ง เกษตรกรรม 15 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลมูลค่าการลงทุนและข้อมูลการประกอบธุรกิจเพิ่มเติม
“การกระทำความผิดนอมินี ส่วนใหญ่เกิดจากคนไทยยอมรับผลประโยชน์ สมยอม หรือมีที่ปรึกษากฎหมายแนะนำให้หลีกเลี่ยงกฎหมาย จึงขอเน้นย้ำให้คนไทยอย่าหลงเชื่อ ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยง หรือฝ่าฝืนกฎหมาย”
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสำนักงานบัญชีและกฎหมายหลายแห่ง แนะนำหรือจ้างคนไทยเข้ามาถือหุ้นแทนคนต่างชาติ โดยให้คนไทยถือหุ้นสัดส่วน 51% และต่างชาติ 49% เพื่อทำให้บริษัทนั้นมีสถานะเป็นนิติบุคคลไทยและประกอบธุรกิจได้โดยไม่ต้องอนุญาต หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีคนไทยจงใจให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ร่วมประกอบธุรกิจ หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ที่เข้าข่ายนอมินี จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ส่วนปีงบประมาณ 67 อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานตรวจสอบประจำปี โดยจะเน้นธุรกิจตามบัญชีท้ายพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว สำหรับพื้นที่เป้าหมาย จะหารือร่วมกับหน่วยงานพันธมิตเพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้น กรมยังได้ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อการประกอบธุรกิจ เช่น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ฯลฯ
ทั้งนี้ในช่วง8 ปีที่ผ่านมา(2558-2565)กรมฯได้ดำเนินการตรวจสอบนิติบุคคลนอมินี ใน 3 รูปแบบ คือ มีหนังสือให้ผู้ถือหุ้นและนิติบุคคลชี้แจงข้อเท็จจริง จำนวน 4,087 ราย ,ลงพื้นที่ตรวจสอบ ณ สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของนิติบุคคล จำนวน1,902 ราย และพบพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายนอมินี จำนวน191ราย โดยนิติบุคคลที่เข้าข่ายกรมฯได้ส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนต่อ โดยหากพบว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายกระกระทำความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 ก็จะส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
โดยในช่วง8 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินคดีไปแล้ว จำนวน 66 ราย บทลงโทษผู้ที่เป็นนอมินีจะมีความผิดทั้งนิติบุคคล ผู้ให้ความช่วยเหลือ และผู้ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 100,000 – 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 - 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
สำหรับการดำเนินคดีกับนอมินีนั้นเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งสำนวนคดีพิเศษกรณี นอมินีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา 3 ราย เป็นคนต่างด้าวและคนไทยที่ร่วมกันกระทำความผิดประกอบธุรกิจในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย โดยคนต่างด้าวยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาถือหุ้นแทนเพื่ออำพรางแหล่งที่มาของเงินทุนในการประกอบธุรกิจ
ส่วนแนวทางการป้องปรามนอมินี นั้น ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะมีการตรวจสอบตั้งแต่การจดทะเบียน โดยก่อนจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล จะตรวจสอบเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นคนไทยที่ลงทุนหรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าว เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยรายนั้น มีฐานะทางการเงินที่ลงทุนด้วยตนเองได้
ส่วนเมื่อจดทะเบียนแล้ว กรมมีโครงการตรวจสอบประจำปี โดยคัดเลือกกลุ่มเสี่ยง เช่น ธุรกิจที่คนต่างด้าวถือหุ้นไม่ถึง 50% ธุรกิจมีคนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ ให้สิทธิคนต่างด้าวมากกว่าคนไทยไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิการออกเสียงลงคะแนน สิทธิการรับเงินปันผล สิทธิการรับคืนทุนเมื่อเลิกกิจการ เป็นต้น รวมถึงนำเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในทำธุรกิจ เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินแก่คนต่างด้าว โดยมีเงื่อนไขที่ผิดปกติ มาประกอบพิจารณาด้วย
จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า คนไทยเป็นนอมินีของคนต่างด้าวมีนิติบุคคลที่เข้าข่ายเป็นนอมินีเฉลี่ยปีละ 400-500 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เข้ามาประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ ใช้คนไทยถือหุ้นแทน ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
โดยแหล่งที่ตั้งส่วนใหญ่จะเป็นหัวเมืองใหญ่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงเป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาลทำให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากการตั้ง “นอมินี”เพื่อหลีกเลี่ยงกฏหมาย สร้างความเสียหายให้กับคนไทยทั้งเศรษฐกิจและอาชญากรรม