‘สภาพัฒน์’ แนะไทยยกระดับทักษะแรงงาน รับสังคมสูงวัย-แก้ปัญหาคุณภาพ-คน ลด

‘สภาพัฒน์’ แนะไทยยกระดับทักษะแรงงาน  รับสังคมสูงวัย-แก้ปัญหาคุณภาพ-คน ลด

สศช.เปิดเวทีตลาดแรงงานไทย ชี้ข้อจำกัด ความท้าทายในอนาคต ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศ ชี้มีปัญหาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ หลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุประชากรวัยแรงงานลดลงเหลือแค่ 56.8% ในปี 2580 ขณะที่ด้านคุณภาพแรงงานต้องเร่งยกระดับเสริมทักษะรับอนาคต

 

นายดนุชา พิชยนันทน์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการของสายงานประจำปี 2566 เรื่อง “ตลาดแรงงานไทย : ข้อจำกัดและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย” ว่า เรื่องแรงงาน เป็นเรื่องสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพราะปัจจุบันโครงสร้างประชากรของไทยกำลังปรับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในปี 2566 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นคือ มีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 19.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนแนวโน้มในอนาคตจะมีประชากรวัยแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากการพิจารณาข้อมูลพบว่า ประชากรในวัยแรงงานของไทย จะปรับลดลงจากปี 2566 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 65% จะปรับลดลงไปในปี 2570 อยู่ที่ 61.4% และเมื่อถึงปี 2580 ซึ่งสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี จะมีสัดส่วนของประชากรวัยแรงงานเหลือเพียงแค่ 56.8% เท่านั้น นับว่าเป็นความท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

 

นายดนุชา กล่าวว่า ถ้าพิจารณาถึงข้อจำกัดด้านแรงงานแล้ว นอกจากปัญหาจำนวนแรงงานที่ลดลงแล้ว ยังพบปัญหาคุณภาพของแรงงานลดลงอีกด้วย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาศักยภาพแรงงานของไทยฟื้นตัวได้ช้ามาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเมื่อมีการระบาดครั้งใหญ่ ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพแรงงานมากขึ้นอีก ประกอบกับในอนาคตยังมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาทักษะของวัยแรงงานตามมาอีกด้วย

“สิ่งที่จำเป็นตอนนี้ คือ การพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพสูงขึ้นเพื่อเข้ามาทดแทนแรงงานที่หายไปจากสังคมสูงวัยก็เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย เรื่องคุณภาพแรงงานจะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศในระยะถัดไป”

ดังนั้นสิ่งที่จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ นั่นคือ การเชื่อมโยงประเด็นการพัฒนาระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนากำลังแรงงานให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน เพื่อเพิ่มระดับผลิตภาพของแรงงานและยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย