ส่งออก ส.ค.ขยายตัว 2.6% พลิกบวกครั้งแรกรอบ 11 เดือน 'พาณิชย์' ชี้สัญญาณดี
“พาณิชย์” เผยส่งออกเดือน ส.ค. ขยายตัว 2.6% กลับมาเป็นบวกในรอบ 11 เดือน พบภาคเกษตร - อุตสาหกรรม เป็นพระเอกดันมูลค่าส่งออกสูงถึง 8.2 แสนล้านบาท ประเมินแนวโน้ม 3 เดือนสุดท้ายของปี เห็นสัญญาณบวกต่อเนื่องจากความนิยมสินค้าเกษตรไทย ตอกย้ำตำแหน่งครัวโลก
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ส.ค. 2566 และ 8 เดือนแรกของปี 2566 โดยระบุว่า ภาพรวมการส่งออกไทยในเดือน ส.ค.2566 มีมูลค่าสูงถึง 24,279.6 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 824,938 ล้านบาท ขยายตัว 2.6% พลิกกลับมาเป็นบวกในรอบ 11 เดือน และยังมีดุลการค้าอยู่ที่ 359.9 ล้านดอลลาร์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าภาคเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ที่กลับมาขยายตัวต่อเนื่องและสร้างมูลค่าสูง
ขณะที่การส่งออก 8 เดือนแรกของปี 2566 พบว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 187,593.1 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 6,379,734 ล้านบาท ยังติดลบอยู่ที่ 4.5% แต่พบว่าแนวโน้มในช่วง 3 เดือนหลังจากนี้ เห็นสัญญาณเป็นบวก เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกของไทยเติบโตท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่ผันผวน ซึ่งหากเทียบกับการส่งออกกับประเทศอื่น อาทิ อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน ในเดือน ส.ค.2566 พบว่าไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกเป็นบวกได้
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรที่นับว่าเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของการผลักดันภาคส่งออกไทย โดยในเดือน ส.ค.2566 กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน มีมูลค่าอยู่ที่ 2,217.0 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 75,327 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% ซึ่งสินค้าที่มีการขยายตัวดี ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง รวมไปถึงผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง และการส่งออกข้าวที่เป็นบวก 2 เดือนต่อเนื่อง
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม พบว่ากลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน โดยในเดือน ส.ค.2566 สร้างมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 19,159.5 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 650,976 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% ซึ่งสินค้าที่มีการขยายตัวดี ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด สินค้าประเภทหม้อแปลงไฟฟ้า และส่วนประกอบ สินค้าประเภทแผงวงจรไฟฟ้า สินค้าประเภทเครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าประเภทเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
และการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่ถือเป็นพระเอกผลักดันภาคส่งออกในเดือน ส.ค.2566 เพราะสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกได้สูงถึง 2,599.4 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 88,317 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 5.2% และเป็นการขยายตัว 8 เดือนต่อเนื่อง สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกไทยสะสมในช่วงเดือน ม.ค. - ส.ค. 2566 ได้ถึง 19,631.8 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 667,846 ล้านบาท ขยายตัว 7.7%
“ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้าแต่ไทยทำได้ขนาดนี้ ถือว่าเป็นเรื่องดีอย่างมาก สามารถสร้างมูลค่าส่งออกสูงถึง 24,279.6 ล้านดอลลาร์ และจะเห็นได้ว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเราส่งออกได้ดี สะท้อนผ่านมูลค่าการส่งออก ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังเดินได้ ท่ามกลางการส่งออกของในหลายๆ ประเทศที่มีมูลค่าลดลง และท่ามกลางปัจจัยที่รุมเร้า”
สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนภาคส่งออกในช่วง 3 เดือนหลังจากนี้ คือ สินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่ผลักดันให้การส่งออกภาพรวมขยายตัวดี สะท้อนว่าเกษตรกรไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้น รายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และทำให้ภาพรวมของการจับจ่ายสินค้า และกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งเป็นรูปธรรมที่สามารถผลักดันในเกิดขึ้นในขณะนี้ ท่ามกลางประเทศอื่นๆ ในการส่งออกสินค้าเกษตรเริ่มถดถอยแต่ไทยกลับเติบโต สะท้อนให้เห็นว่าไทยเป็นครัวของโลก และจะยังเป็นครัวของโลกต่อไปได้
ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวสอดคล้องกับสัญญาณการปรับดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลก ทั้งนี้ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ ดังนี้ ตลาดหลักขยายตัว 2.3% โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ 21.7% จีน 1.9% และญี่ปุ่น 15.7% แต่ยังหดตัวต่อเนื่องในตลาดอาเซียน CLMV และสหภาพยุโรป ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 2.4% โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 22.4% แอฟริกา 4.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS 30.4% และสหราชอาณาจักร 10.7% ขณะที่ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา หดตัว 0.9% 12.6% และ 11.7% ตามลำดับ ส่วนตลาดอื่นๆ ขยายตัว 62.8% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 53.6%
สำหรับแผนการส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ทั่วโลก เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยยังคงให้รักษาเป้าหมายการส่งออกในปี 2566 ไว้อยู่ที่ 1 – 2% และมีนโยบาย “เร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากติดลบให้เป็นบวก”
โดยใช้ประโยชน์จาก Soft Power สร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและบริการไทยโดยเชื่อมโยงกับภาคบริการและการท่องเที่ยว พร้อมจัดทำและนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในตลาดทั่วโลก เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการ และแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดน เป็นปัญหาคอขวดและเป็นอุปสรรคต่อสินค้าไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
นอกจากนี้มีนโยบาย “ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA” โดยให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับตัว สร้างความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก และเตรียมความพร้อมให้ดำเนินธุรกิจสอดรับกับกฎกติกาใหม่ๆ ของโลก เช่น Carbon Credit BCG และ SDGs เป็นต้น อีกทั้งได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ วางแผนยุทธศาสตร์หรือแผนบริหารจัดการสินค้าอย่างครบวงจรร่วมกัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อ “รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่” และเพิ่มบทบาท “พาณิชย์คู่คิด SME”
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนส์ด้านพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งในช่วงปลายปีมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลเฉลิมฉลองในประเทศคู่ค้า สำหรับภาพรวมตลาดส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นตัวของตลาดหลัก อย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น กลับมาบวก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงยาวนานที่จะชะลอการผลิตและการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น ภาวะภัยแล้งที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตเพื่อการส่งออก และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกแทบทั้งสิ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป