ทอท.ดึง 10 แอร์ไลน์ใช้อาคาร SAT-1 สุวรรณภูมิ
ทอท.เตรียมเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) แบบ Soft Opening ในวันที่ 28 ก.ย.2566 หลังจากเลื่อนเปิดใช้บริการมาตั้งแต่ 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารยังไม่กลับมาเป็นปกติ
ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย กีรติ กิจมานะวัฒน์ ระบุ ทอท.เตรียมเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) แบบ Soft Opening ในวันที่ 28 ก.ย.2566 หลังจากเลื่อนเปิดใช้บริการมาตั้งแต่ 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารยังไม่กลับมาเป็นปกติ
ในขณะที่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่เคยมีปัญหาบริษัทคิงเพาเวอร์เข้าพื้นที่ไม่ได้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงพื้นที่และเริ่มจ่ายผลตอบแทนการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ให้กับ ทอท.มาตั้งแต่เดือน เม.ย.2566 โดยมีการพัฒนาร้านค้าปลอดภาษีเสร็จแล้ว 70%
ขณะนี้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 พร้อมให้บริการแล้ว 100% ซึ่งคาดว่า SAT-1 จะช่วยเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารอีก 216,000 ตารางเมตร และเพิ่ม 28 หลุมจอดประชิดอาคารที่พร้อมให้บริกาน 100% สร้างความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร
รวมทั้งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนต่อปีต่อไป โดยหลังจากทดลองเปิดให้บริการ 1 เดือน ทอท.จะมีการประเมินความพร้อมเพื่อเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2566
สำหรับการทดลองเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.2566 จะมี 2 สายการบินใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 แห่งนี้ ประกอบด้วย สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และ สายการบินไทยเวียตเจ็ท โดยที่ 28 ก.ย.2566 สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ เที่ยวบินที่ XJ 0761 จะเป็นเที่ยวบินที่จอดใช้บริการ SAT-1 โดยเดินทางจากเซี่ยงไฮ้ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 10.15 น.
ทั้งนี้ สัปดาห์แรกที่เปิดบริการ สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์จะให้บริการวันละ 14 เที่ยวบิน และสายการบินไทยเวียตเจ็ทจะให้บริการวันละ 4 เที่ยวบิน และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะพิจารณาจัดสายการบินอื่นเข้าใช้บริการอาคาร SAT-1 เพิ่มต่อไป
ทั้งนี้ นอกจาก 2 สายการบินนำร่องใช้บริการอาคาร SAT-1 แล้ว ปัจจุบัน ทอท.เจรจา 10 สายการบินที่จะมาใช้บริการอาคารผู้โดยสารนี้ อาทิ สายการบินเอมิเรตส์, สายการบินเอทิฮัด, ออล นิปปอน แอร์เวย์, กาต้า แอร์เวย์, มาฮานแอร์ สายการบินจากอิหร่าน และสายการบินไทย รวมทั้งคาดว่าหลังทดลองเปิดให้บริการ SAT-1 แล้ว สายการบินเหล่านี้จะตัดสินใจใช้บริการ
รวมทั้ง ทอท.กำลังพิจารณามาตรการจูงใจสายการบิน เช่น ส่วนลดบริการกราวด์เซอร์วิส ค่าใช้จ่ายค่าเช่าออฟฟิศและค่าใช้สะพานเทียบ โดยจะพิจารณาเสร็จพร้อมเสนอคณะกรรมการ ทอท.ภายใน 1 เดือนหลังจากนี้
ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กิตติพงศ์ กิตติขจร ระบุ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ผ่านการทดลองปฏิบัติการเต็มรูปแบบอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1 Full - Scale Trial Operations) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้ปฏิบัติการร่วมกับสายการบิน ผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจในความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการแบบ Soft Opening ในวันที่ 28 กันยายน 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปีต่อไป
สำหรับปริมาณผู้โดยสาร 6 ท่าอากาศยาน ทอท.ปัจจุบันผู้โดยสารระหว่างประเทศฟื้นตัวในระดับ 70% โดยส่วนใหญ่เป็นตลาดยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง ส่วนจีนยังฟื้นตัวน้อย
ขณะที่ผู้โดยสารในประเทศตอนนี้ฟื้นตัว 100% ซึ่ง ทอท.ประเมินว่าปีงบประมาณ 2566 จะมีผู้โดยสารรวม 6 ท่าอากาศยาน 100 ล้านคน และเพิ่มในปี 2567 อยู่ที่ 150 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนโควิดที่มี 142 ล้านคน โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คาดว่าปีงบ 2566 จะมีผู้โดยสาร 40 ล้านคน และปีงบประมาณ 2567 ขยายตัวไป 60 ล้านคน กลับมาเทียบเท่าปี 2562
ส่วนนโยบายวีซ่าฟรี จะจูงใจนักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางมากขึ้น โดยช่วง 5 เดือนของการใช้มาตรการระหว่าง 25 ก.ย.2566-29 ก.พ.2567 คาดว่าผู้โดยสารจีนเพิ่มสูงถึง 5 ล้านคน จากเดิม ทอท.ประเมินว่ามีปริมาณ 2.4 ล้านคน ซึ่งถือว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยเริ่มเห็นสัญญาณการเดินทางแล้ว จากปริมาณเที่ยวบินจีนในเดือน ส.ค.-ก.ย.2566 มีจำนวน 100-200 เที่ยวบินต่อเดือน ขณะที่เดือน ต.ค.2566 คาดว่ามี 300 เที่ยวบินต่อเดือน เช่นเดียวกับผู้โดยสารเดือน ส.ค.-ก.ย.2566 มีจำนวน 3.5 แสนคนต่อเดือน ขณะที่เดือน ต.ค.2566 คาดว่าจะมี 6.2 แสนคนต่อเดือน