'การบินไทย' ลุยตลาดคนไทย-เดสติเนชันฮิต มุ่งสู่สถานะ 'สายการบินแห่งชาติ'
“การบินไทย” กางแผนสู่เป้าหมายสายการบินแห่งชาติ ตั้งเป้าดึงตลาดคนไทยครองสัดส่วนใช้บริการ 40% รุกเส้นทางยอดฮิตหลังควบรวม “ไทยสมายล์” เดินหน้าบูมรูทญี่ปุ่นเดสติเนชันยอดฮิต คาดตารางบินฤดูหนาวนี้เคบิ้นแฟกเตอร์พุ่ง 80-85%
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ท่ามกลางการขับเคลื่อนธุรกิจบนแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะนี้นับได้ว่าใกล้เข้าสู่ฝั่งฝัน เพราะเดินหน้าภารกิจแล้วเสร็จ 90% อีกทั้งตัวเลขผลการดำเนินงานที่ไต่ระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดันกระแสเงินสดในมือ (แคชโฟว์) สะสมสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท ทำให้ขณะนี้มีการประเมินว่าจะผลักดันองค์กรออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในสิ้นปี 2567 ซึ่งเร็วกว่ากำหนด และกลับเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ในไตรมาส 3 ปีหน้า
ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉายภาพถึงเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจหลังจากนี้ โดยระบุว่า ปัจจุบันการบินไทยอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างธุรกิจควบรวมในส่วนของสายการบินไทยสมายล์ และการบินไทย ซึ่งมีการทยอยโอนฝูงบินและเส้นทางบินภายใต้โค้ด WE ของไทยสมายล์เข้ามาบริหารภายใต้การบินไทยอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าภายในเดือน ม.ค.2567 จะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ 100% ทำให้หลังจากนั้นจะไม่มีโค้ดบิน WE
อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ จะส่งผลบวกต่อองค์กรให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถทั้งในส่วนของฝูงบิน และเส้นทางบิน สามารถทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะตอบโจทย์เป้าหมายการบิน “สายการบินแห่งชาติ”
“การบินไทยเราต้องการเป็นสายการบินแห่งชาติที่มีคนไทยใช้บริการจำนวนมาก เพราะสายการบินสัญชาติอื่นๆ ที่เป็นสายการบินแห่งชาติ วันนี้เขามีสัดส่วนลูกค้าในประเทศ 40 - 50% แต่เรายังเล็กเกินไป เพราะไซส์ธุรกิจของการบินไทยเล็ก เนื่องจากก่อนหน้านี้เราเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้ขยายธุรกิจยาก ทำให้ไม่โตสักที แต่ข้อดีของการที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ทำให้เราตัดสินใจขยายธุรกิจง่ายขึ้น”
ทั้งนี้ การบินไทยยังมีเป้าหมายหลังเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งนำมาสู่การเพิ่มฝูงบินและเส้นทางบินในครั้งนี้แล้ว จะเร่งทำการตลาดเพื่อเพิ่มสัดส่วนลูกค้าคนไทยจากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดของการบินไทยอยู่ที่ 27% จะปรับเพิ่มให้สูงถึง 40% สูงกว่าช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอส์ต) และการบินไทยครองส่วนแบ่งทางการตลาดคนไทยอยู่ที่กว่า 30%
“ก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลต้องมีนโยบายน่านฟ้าฟรี เปิดโอกาสให้กับสายการบินอื่นๆ เข้ามาทำธุรกิจในไทย ด้วยเหตุผลที่ว่าการบินไทยขยายไม่ทัน แต่ขณะนี้ถ้าการบินไทยกลับมาขยายตัวเองได้ มีความสามารถขยายตัวเองได้”
สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กร จะทำให้การบินไทยรับโอนฝูงบินแอร์บัส A320 ของไทยสมายล์ รวมจำนวน 20 ลำ ซึ่งขณะนี้โอนมาแล้ว 4 ลำ เหลืออีก 16 ลำ และทยอยโอนนักบินและลูกเรือและจุดบินมาด้วย ซึ่งจะส่งผลให้การบินไทยมีฝูงบินรวมจำนวน 76 ลำ จากปัจจุบันที่มีจำนวน 45 ลำ และอยู่ระหว่างจัดหาเพิ่ม 11 ลำ
ขณะที่แผนดำเนินธุรกิจของการบินไทยในขณะนี้ ปัจจุบันมีสัดส่วนทางการตลาดในทวีปต่างๆ ประกอบด้วย
- ตลาดยุโรป 30%
- ตลาดคนไทย 27%
- Northern (เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ฮ่องกง) 20%
- Southern (เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย) 13%
- Western & Middle East (เช่น ดูไบ อินเดีย กาตาร์) 10%
โดยเป้าหมายนอกจากจะเพิ่มสัดส่วนลูกค้าคนไทยแล้ว การบินไทยยังเน้นรุกเส้นทางยอดนิยมอย่างญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเดสติเนชันยอดฮิตของคนไทยและมีโอกาสเติบโตตลอดทั้งปีและคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการของชาวญี่ปุ่นที่จะเดินทางมายังประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้รณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางไปยังต่างประเทศซึ่งการบินไทยมั่นใจว่าเป็นสายการบินที่มีผลิตภัณฑ์และบริการสามารถตอบโจทย์ชาวญี่ปุ่นได้อย่างครบถ้วน และการบินไทยยังมีเครือข่ายเส้นทางการบินที่ครอบคลุมจุดมุ่งหมายของชาวญี่ปุ่นต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น CLMV อินเดีย และยุโรป จึงคาดว่าในปี 2567 การเดินทางของชาวญี่ปุ่นมาไทยจะขยายตัวจำนวนมาก
สำหรับประมาณการตลาดญี่ปุ่น คาดว่าจะมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) โดยเฉลี่ยในช่วงฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ระหว่างเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2566 อยู่ที่ 80-85% โดยการบินไทยได้เพิ่มเที่ยวบินในตลาดดังกล่าว ประกอบด้วย ซัปโปโร จาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, ฟุกุโอกะ จาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, โตเกียว (นาริตะ / ฮาเนดะ) 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ อีกทั้งยังมีแผนที่จะทำเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟล์ต) ไปยังเมือง Sendai (เซนได) และKomatsu (โคมัทสุ) ในช่วงสิ้นปีนี้
การบินไทยยังขยายเครือข่ายธุรกิจผ่านการจับมือกับ “เตอร์กิชแอร์ไลน์ส” เป็นพันธมิตรในการขยายเส้นทางบินเชื่อมต่อเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐ ผ่านการทำโค้ดแชร์ส่งต่อผู้โดยสาร ใช้จุดบิน “อิสตันบูล” เป็นฮับเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆ ซึ่งแผนทั้งหมดนี้ จะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินที่มีเครือข่ายจุดบินเข้มแข็ง และเข้าถึงผู้โดยสารทุกตลาดครอบคลุมทั่วโลก