'กกพ.' เผย ประมูลไฟสะอาด 5 พันเมก โปร่งใส ส่วนเฟส 2 รอ 'พีระพันธุ์' พิจารณา
จับตา 4 ต.ค. 2566 บอร์ด "กกพ." ถกปม "ศาลปกครองเพชรบุรี" มีคำสั่งคุ้มครองการเปิดรับซื้อขายไฟจากพลังงานหมุนเวียน 5 พันเมกะวัตต์ ย้ำ ประมูลเฟส 2 อีก 3 พันเมกะวัตต์ จะใช้เงื่อนไขเดิมของมติ กพช. หรือไม่ ถือเป็นอำนาจ รมว.พลังงาน ตัดสินใจ
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่ ศาลปกครองเพชรบุรี มีคำสั่งทุเลาโครงการเสนอขายไฟฟ้าของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี พ.ศ.2565-2573 ของ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม บริษัทย่อยของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ยื่นเรื่องฟ้อง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบต่อนโยบายด้านพลังงานในการขับเคลื่อนแผนพลังงานแห่งชาติ โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) มากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้รับจาก คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) นั้นยืนยันว่าจะดำเนินเนิตามขั้นตอนในการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ. ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 175 ราย ปริมาณเสนอขาย 4,852.26 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น
1. พลังงานลม ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 20 ราย ปริมาณเสนอขาย 1,474.20 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) จำนวน 2 ราย ปริมาณเสนอขาย 16.00 เมกะวัตต์ รวมเป็น 1,490.20 เมกะวัตต์
2. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) : ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 24 ราย ปริมาณเสนอขาย 994.06 เมกะวัตต์
3. พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดิน ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 39 ราย ปริมาณเสนอขาย 1,877.96 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) จำนวน 90 ราย ปริมาณเสนอขาย 490.04 เมกะวัตต์ รวมเป็น 2,368.00 เมกะวัตต์
4. เชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม จำนวน 13 ราย รวม 100 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 3 การไฟฟ้าฯ อยู่ระหว่างขั้นตอนการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งจะเรียกมาทำสัญาฯ ทีละรายหรือทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับทั้ง 3 การไฟฟาฯ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2566 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน กพช. ได้มีมติเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น
1. โซลาร์ฟาร์ม 2,632 เมกะวัตต์ จากรอบแรกที่รับซื้อ 2,368 เมกะวัตต์
2. พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ จากรอบแรกรับซื้อ 1,500 เมกะวัตต์
3. ก๊าซชีวภาพ 6.5 เมกะวัตต์ รอบแรกไม่มีผู้ผ่านคุณสมบัติ
4. ขยะอุตสาหกรรม 100 เมกะวัตต์ จากรอบแรกเปิดรับ 200 เมกะวัตต์ แต่มียอดรับซื้อที่ 100 เมกะวัตต์ จึงจะเพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ รวมเป็น 130 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ในการประมูลเฟส 2 จะใช้ระเบียบเดียวกับการรับซื้อในเฟสที่ 1 หรือไม่ รวมถึงเงื่อนไขตัดสิทธิ์กรณีผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมต้องไม่เป็นผู้ร้องเรียน ผู้อุทธรณ์ ผู้ฟ้องร้อง ให้หน่วยงานภาครัฐ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามระเบียบ กกพ. อาจจะต้องให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว. พลังงาน เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง เพราะจริง ๆ แล้วเรื่องการเปิดรับซื้อไฟสะอาดดังกล่าว กกพ. ถือว่าเป็นหน่วยงานที่ดำเนินตามนโยบายรัฐบาลเป็นหลัก
"จากข้อมูลของ กกพ. ยืนยันว่าการประมูลในเฟส 1 มีความถูกต้อง โปรงใสและเป็นธรรม ซึ่งประเด็นหลัก EA ไม่ผ่านการพิจารณาในขั้นตอนแรกคือเป็นการเช่าพื้นที่ สปก. ซึ่งจะต้องตกการพิจารณาในเรื่องของที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ ซึ่งกรณีที่ดินถือว่าสำคัญเพราะที่ผ่านมาจะมีปัญหาให้หลายโครงการต้องล่าช้าตามมาด้วย โดยวันที่ 4 ต.ค. 2566 บอร์ดกกพ. จะหารือเรื่องดังกล่าว เพราะขั้นตอนถือว่าอยู่ในชั้นศาลฯ จึงต้องให้ผู้ถูกฟ้องพิจารณาตามขั้นตอน"