ส่งออกไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงยาว สรท.หั่นเป้าทั้งปีติดลบหนัก 1.5%

ส่งออกไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงยาว สรท.หั่นเป้าทั้งปีติดลบหนัก 1.5%

สรท.เผยการส่งออกของไทยไตรมาส 4 ปีนี้ ยังเผชิญความเสี่ยงเพียบ แต่มั่นใจปิดบวกได้ แนะ 3 เร่งดันส่งออกช่วงโค้งสุดท้าย พร้อมปรับเป้าทั้งปีติดลบ 1.0-1.5%

การส่งออกไทยเดือน ส.ค.2566 มีมูลค่า 24,279.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.6% ซึ่งถือว่าเซอร์ไพส์มากหลังจากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะส่งออกมีมูลค่า 23,500 ล้านดอลลาร์ ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้ามาก 

ขณะที่ภาพรวมส่งออก 8 เดือน แรกของปี 2566 มีมูลค่า 187,593.1 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.5% ซึ่งต่ำว่าปี 2565 และเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคนี้ก็ทำได้ดีกว่า โดยตัวเลขที่ติดลบไม่ได้เลวร้ายมากนัก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า คงต้องจับตาช่วงโค้งสุดท้ายใน 4 เดือนจากนี้เพราะเป็นความท้าทายการส่งออกไทยเนื่องจากจะเจอปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้

โดยเฉพาะจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมีผลต่อประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น ยุโรป และจีนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ภาคอสังหาริมทรัพย์และอุปสงค์ในประเทศอ่อนแรง อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงตัวในระดับสูง

รวมถึงดัชนีภาคการผลิต (PMI) ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกส่งผลต่อความไม่แน่นอนของปริมาณผลผลิตและอาจส่งผลให้ราคาต้นทุนของสินค้าเกษตรและอาหารทรงตัวอยู่ในระดับสูง 

ส่งออกไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงยาว สรท.หั่นเป้าทั้งปีติดลบหนัก 1.5%

 

อย่างไรก็ตามยังมองว่าการส่งออกของไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาคแต่คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยผู้ส่งออกควรจะประกันความเสี่ยงจากค่าเงินไว้ด้วย นอกจากนี้ ภาคการผลิตและการบริโภคของสหรัฐเริ่มฟื้นตัว เศรษฐกิจน่าจะกลับมาอีกครั้งหลังวันหยุดชาติจีน และมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นจากเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน

“เดือน ก.ย.ต้องลุ้นว่าตัวเลขจะเป็นบวกหรือไม่ ซึ่งเดือนก.ย.ปีที่แล้วตัวเลขสูงมาก 24,919  ล้านดอลลาร์ หากทำได้ถึงถือว่า เก่งมาก จากการประเมินไม่น่าจะได้ แต่ตัวเลขจะติดลบน้อย ขณะที่ในเดือนพ.ย.-ต.ค.และธ.ค.ตัวเลขจะพลิกกลับมาเป็นบวกจากการส่งออกสินค้าที่ประเทศคู่ค้าสั่งล่วงหน้าเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ คาดว่าน่าจะส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละได้ 23,500 ล้านดอลลาร์ ก็จะทำให้การส่งออกไตรมาส 4 เป็นบวก

ทั้งนี้ สรท.คาดการณ์การส่งออกทั้งปีติดลบ 1.0% ถึงติดลบ 1.5% จากประมาณการณ์เดิมติดลบ  0.5 -1%  โดยหากจะให้การส่งออกในปีนี้ทรงตัวเท่ากับปีก่อนขยายตัว 0% ช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.2566) ต้องมียอดส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 25,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

รวมทั้งหากจะให้ติดลบน้อยที่สุดแค่ 1% จะต้องมียอดส่งออกเฉลี่ยเดือนเดือนละ 24,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็คงต้องลุ้น แต่โอกาสที่มีความเป็นไปได้สูง คือ ลบ 1.5% หรือมียอดส่งออกเฉลี่ยเดือนละ เฉลี่ย 23,880 ล้านดอลลาร์

สำหรับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้จะมีผลต่อการนำเข้าของไทยจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการแต่ในไตรมาส 4 ยังไม่ส่งผล เพราะมีคำสั่งซื้อสินค้ามาล่วงหน้าและเริ่มการผลิตเพื่อการส่งออกแล้ว แต่จะส่งผลในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567

นายชัยชาญ กล่าวว่า สรท.มีข้อเสนอแนะมาตรการ 3 เร่ง ผลักดันการส่งออกโค้งสุดท้าย ประกอบด้วย 

1.เร่งสร้าง ประกอบด้วย เร่งสร้างกิจกรรมส่งเสริมการค้าในตลาดเป้าหมาย (Exhibition / Business matching/ In-coming exhibition)

รวมทั้งเพิ่มงบประมาณส่งเสริมกิจกรรม อาทิ SMEs Proactive และกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อาทิ ตลาดตะวันออกกลาง ส่งเสริมการส่งออกข้าว ไก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารแปรรูป เครื่องปรับอากาศ ตลาดจีน ส่งเสริมการส่งออกผลไม้แปรรูป ยางพารา มันสำปะหลัง Unlock quota ทุเรียน ลำไย ที่ประเทศอินโดและฟิลิปปินส์

การเร่งส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ในตลาดอินเดีย และส่งเสริมการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในตลาดออสเตรเลีย อเมริกา 

การเร่งแก้ไขปัญหาความแออัดที่ท่าเรือต้นทางปลายทางจากการปนเปื้อนดอกหญ้า (ดอกธูปฤาษีปนเปื้อนไปกับรถยนต์ส่งออก) และเร่งสร้างการส่งออกผ่านช่องทาง e-commerce สนับสนุนให้ผู้ส่งออกขี้น platform ในตลาดเป้าหมายให้มากขึ้น

2.เร่งเสริม โดยเสริมพลัง Soft power ของไทยอย่างเป็นรูปธรรม เหมือนการสร้าง soft power ของผลไม้ในประเทศ New Zealand ที่ผลักดัน “กีวี่” เป็นผลไม้ประจำชาติ และเป็นผลไม้ส่งออกสำคัญมากที่สุดของ New Zealand เร่งส่งเสริมการจดทะเบียน GI (Geographical Indicator) หมอนทอง ก้านยาว พวงมณี เพื่อสร้างมูลค่าและป้องกันการลอดเลียนแบบสินค้าเอกลักษณ์ของไทย

รวมทั้งเร่งเตรียมการเสริมในเรื่องของจัดตั้ง กรอ.สิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมการรองรับมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่เกี่ยวข้องกับผู้ส่งออก และเร่งเสริมเจรจาสายเรือให้เพิ่มตู้และระวางขนส่งเพิ่มเติมจาก service contract เพื่อรองรับ spot shipment ที่จะมีมากขึ้น

3.เร่งสานต่อ โดยเร่งเสริมการเจรจาการค้าเสรี และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งพหุภาคี และทวิภาคี เพื่อเข้าถึงตลาดและวัตถุดิบ FTA Thai-EU / Thai-UAE เป็นต้น