บันได 3 ขั้นรัฐบาล ดัน "ซอฟต์พาวเวอร์" ไทย ก้าวสู่เวทีโลก

บันได 3 ขั้นรัฐบาล ดัน "ซอฟต์พาวเวอร์" ไทย ก้าวสู่เวทีโลก

รัฐบาลคิกออฟ "ซอฟต์พาวเวอร์" วางเป้าหมายการทำงานระยะ 6 เดือน - 1 ปี กำหนดบันได 3 ขั้นทั้งเฟ้นหาคน ครอบครัวที่จะพัฒนาทักษะ พัฒนาอุตสาหกรรม ส่งเสริมไปสู่เวทีโลก เล็งตั้งสำนักงาน "THACCA" เดินหน้านโยบาย ตั้งเป้าสร้างรายได้ปีละ 4 ล้านล้านบาท สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง

นับหนึ่งอย่างเป็นทางการสำหรับการเริ่มต้นการขับเคลื่อนนโยบาย “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft power) ของรัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นผู้แทนภาครัฐและผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นจำนวนมาก

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ  ได้เปิดเผยถึงการจัดทำแผนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยจะเร่งขับเคลื่อน "1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์" หรือ One Family One Soft Power (OFOS) และ "Thailand Creative Content Agency (THACCA)"

มีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทยจำนวน 20 ล้านคน สู่การเป็นแรงงานทักษะขั้นสูงและแรงงานสร้างสรรค์ และจะสามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านชอฟต์พาวเวอร์ของโลก

บันได 3 ขั้นรัฐบาล ดัน \"ซอฟต์พาวเวอร์\" ไทย ก้าวสู่เวทีโลก

บันได 3 ขั้นดันไทยสู่ผู้นำซอฟต์พาวเวอร์โลก 

ทั้งนี้การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ได้กำหนดบันได 3 ขั้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายนี้ไปถึงเป้าหมาย ได้แก่

ขั้นที่ 1 การพัฒนาคนผ่านกระบวนการส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ โดยเฟ้นหาผู้ที่มีความฝันและอยากทำความฝันนั้นให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ จำนวน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครัวเรือน โดยให้แจ้งลงทะเบียนกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อบ่มเพาะผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ ทั้งด้านทำอาหาร ฝึกมวยไทย วาดภาพศิลปะ ฝึกการแสดง ร้องเพลง ออกแบบ แฟชั่น ฝึกแข่ง e-sport และอื่น ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

 

ขั้นที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่าง ๆ ภายในประเทศ 11 สาขา ได้แก่

อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น เป็นต้น โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กร THACCA ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พร้อมสนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนา สร้างแรงจูงใจด้านภาษี ให้เสรีภาพแก่ความคิดสร้างสรรค์ให้ทุกคนสามารถแสดงผลงานได้อย่างไร้ขีดจำกัด

รวมทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือ TCDC ในทุกจังหวัด เพิ่มพื้นที่สำหรับ Co-Working Space ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ และต่อยอด Soft Power อย่างมั่นคงตั้งแต่ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ 

บันได 3 ขั้นรัฐบาล ดัน \"ซอฟต์พาวเวอร์\" ไทย ก้าวสู่เวทีโลก

ขั้นที่ 3 การนำอุตสาหกรรมชอฟต์พาวเวอร์รุกสู่เวทีโลก ผ่านการเดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม

โดยให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับภาคเอกชนนำซอฟต์พาวเวอร์ไทยเผยแพร่สู่ตลาดโลก ผ่านยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนด้วยการวิจัยข้อมูลเชิงพฤติกรรม กลยุทธ์การสื่อสาร และการร่วมจัดกิจกรรมในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งสามารถทำได้ทั้งที่เป็นกิจกรรมระดับโลกที่จัดภายในประเทศ และการนำซอฟต์พาวเวอร์ที่มีศักยภาพสูงของไทยเข้าร่วมกิจกรรมระดับโลกในต่างประเทศ

 

สำหรับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในระยะเวลา 6 เดือน และ 1 ปีในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ ได้แก่

ภายใน 6 เดือน หรือภายในวันที่ 3 เม.ย.2567

  • เริ่มต้นกระบวนการ บ่มเพาะศักยภาพคนผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์
  • เสนอร่างพระราชบัญญัติ THACCA เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
  • จัดงานเทศกาลสงกรานต์ทั้งประเทศให้เป็นเทศกาลระดับโลก หรือ World Water Festival
  • จัดงาน ซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัมนานาชาติ เพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์ของคน  ในวงการซอฟต์พาวเวอร์ทั้งระดับประเทศและระดับโลก

ภายใน 1 ปี หรือภายในวันที่ 3 ต.ค.2567

  • กระบวนการบ่มเพาะศักยภาพคน จะสามารถสร้างแรงงานทักษะสูงและแรงงานสร้างสรรค์ ได้จำนวนอย่างน้อย 1 ล้านคน
  • ร่างพระราชบัญญัติ THACCA ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา
  • การส่งเสริมการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติและเทศกาลดนตรีนานาชาติ และสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในสาขาต่าง ๆ ไปร่วมงานในระดับโลก