กางแผนจัดหา ‘รถเมล์ไฟฟ้า’ ขสมก.ขีดเส้นครบภายในปี 2571
ขสมก.เปิดแผนจัดหารถเมล์ใหม่ 2,013 คัน วงเงินรวมกว่า 5 พันล้านบาท ชูโมเดลเช่าพร้อมซ่อมบำรุง คาดผลักดันแล้วเสร็จภายใน 3 - 5 ปี มั่นใจเป็นแนวทางลดต้นทุนทางการเงินกว่า 60%
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ปัจจุบันนับเป็นหน่วยงานที่มีผลขาดทุนต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการฟื้นฟูกิจการ โดยปัจจุบันมียอดหนี้สะสมสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานด้านการเงิน พบว่ามีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท และกลับมีค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงิน เฉลี่ยต่อปี 1.25 หมื่นล้าน รวมไปถึงผลขาดทุนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี ขสมก.ได้ศึกษาแผนปรับลดต้นทุนเพื่อหยุดเลือดไหลจากการขาดทุนต่อเนื่อง โดยพบว่าสาเหตุหลักมาจากภาระต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจากค่าซ่อมบำรุงรถโดยสารที่มีสูงถึงปีละ 1.9 พันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นค่าเชื้อเพลิงที่ต้องบริหารจัดการให้กับรถโดยสารจำนวน 2,885 คัน
โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาแผนลดต้นทุนการดำเนินงาน มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาจากต้นทุนหลักคือค่าซ่อมบำรุง และค่าเชื้อเพลิง ผ่านแผนจัดหารถโดยสารใหม่ที่ใช้พลังงานสะอาด เป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่พบว่ามีต้นทุนเชื้อเพลิงไม่สูงหากเทียบกับน้ำมัน อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศในด้านการใช้พลังงานสะอาดในระบบขนส่งมวลชน
สำหรับแผนจัดหารถโดยสาร ขสมก.จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย
- ระยะที่ 1 จัดหารถโดยสารจำนวน 224 คัน มูลค่า 341 ล้านบาท
- ระยะที่ 2 จัดหารถโดยสาร จำนวน 1,020 คัน มูลค่า 1,939 ล้านบาท
- ระยะที่ 3 จำนวน 769 คัน มูลค่า 3,201 ล้านบาท
โดยจะจัดหาด้วยวิธีการเช่า ภายในระยะเวลาประมาณ 3 – 5 ปี คาดว่าจะลดต้นทุนทางการเงินได้ทันทีประมาณ 60% ประกอบด้วย ค่าเหมาซ่อม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าประกันภัย ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเก็บค่าโดยสาร เป็นต้น
มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในฐานะผู้กำกับดูแล ขสมก. โดยระบุว่า ภาระหนักที่ทำให้ ขสมก.ขาดทุนต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนค่าซ่อมรถที่มีเฉลี่ยปีละ 1.9 พันล้านบาท หาก ขสมก.สามารถเร่งรัดการจัดหารถเมล์ใหม่ ในลักษณะเช่าเอกชน ก็จะทำให้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าซ่อมส่วนนี้ และจะเป็นผลดีต่อต้นทุนลดลง และหากมีรถเมล์ใหม่ งานบริการที่ดีขึ้น ก็จะทำให้ ขสมก.กลับมาทำกำไร และออกจากแผนฟื้นฟู
โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้ ขสมก.เร่งรัดจัดทำแผนจัดหารถโดยสารใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นเช่ารถเพื่อไม่ให้มีต้นทุนค่าซ่อม ปรับใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้งานบริการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ ขสมก.รายงานแผนจัดหารถโดยสารภายใน 6 เดือนหลังจากนี้ เพื่อเตรียมดำเนินการจัดหารถ หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนกำลังเร่งดำเนินการ