รัฐบาลยกรายงาน ‘UBS’ ชี้การคลังไทยรับเงินดิจิทัลได้ ไม่ห่วงโดนหั่นเรตติ้ง
ยกรายงาน “UBS” โต้ “มูดีส์” รัฐบาลไม่หวั่นโดนหั่นเครดิต เรตติ้งแม้เดินหน้าแจก เงินดิจิทัล โฆษกรัฐบาลเผย รายงานล่าสุด Union Bank of Switzerland (UBS) ไม่มีความกังวลว่าไทยจะถูกลดเครดิตเรตติ้ง ยืนยันความมั่นคงด้านอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทย ยังยั่งยืน
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงรายงานล่าสุดของ Union Bank of Switzerland (UBS) ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์และเป็นธนาคารเพื่อการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับความกังวลที่ว่าประเทศไทยอาจจะถูกลดเครดิตเรตติ้ง หากมีการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet นั้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง รายงานของ Union Bank of Switzerland (UBS) ว่าด้วยภาพรวมทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก (APAC Economic Perspective) โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า แม้ว่าค่าใช้จ่ายทางการคลังยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ความยั่งยืนของหนี้ระยะยาวยังคงมั่นคงอยู่
อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทย ยังยั่งยืน จากรายงาน Article IV ฉบับล่าสุดของ IMF ระบุว่าอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP 70% นั้นสอดคล้องกับความยั่งยืนของหนี้ การปกป้องทางการเงินทางกฎหมายและสถาบันยังใช้งานได้ดี
โฆษกรัฐบาลย้ำว่า รายงานฉบับนี้ระบุอย่างชัดเจนว่า การวัดความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) จะถูกลดระดับลงหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับจากโครงการ Digital Wallet โดยสถาบันจัดอันดับหลายแห่งต่างมองว่า การถูกปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศจะมาจากความเสี่ยงในเรื่องแนวโน้มการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง รวมถึงขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจ มากกว่าจะมองเพียงแค่นโยบายทางการเงินแบบใดแบบหนึ่ง
“เศรษฐกิจของประเทศในหลายปีที่ผ่านมาที่มีการเติบโตแทบจะต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันและต่ำกว่าศักยภาพของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน ด้วยแผนการเพิ่มรายได้ครั้งใหญ่ให้กับประเทศเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาในอัตราเร่งที่สูงกว่าเดิมอย่างต่อเนื่องด้วยชุดนโยบายทั้งระยะสั้น (แน่นอนว่า Digital Wallet เป็นหนึ่งนโยบายในนั้นด้วย) รวมทั้งระยะกลาง และระยะยาว” นายชัย กล่าว
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ มูดีส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส ระบุว่า ภาพรวมของไทยอยู่ในระดับ Baa1 stable (Baa1 มีเสถียรภาพ) แต่ให้ระวังปัจจัยลบในด้านต่างๆ ทั้งการเป็นสังคมผู้สูงวัย แรงงานขาดทักษะ และผลกระทบจากการเมืองที่หากมีความขัดแย้งมากขึ้น ก็อาจทำให้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงได้
ทั้งนี้ เงื่อนไขที่มีผลต่ออันดับเครดิต รวมถึงความเสี่ยงทางการเมืองและความท้าทายระยะยาวเชิงโครงสร้าง ในเรื่องสังคมสูงวัยและแรงงานขาดทักษะในการทำงาน มีผลต่อศักยภาพในการเติบโตในอนาคต
รายงาน Credit Opinion ของมูดีส์ฉบับนี้ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ก.ย. เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ล่าสุด หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงในการคาดการณ์ พบว่า ปัจจุบัน รัฐบาลไทยมีอันดับความน่าเชื่อถือที่ Baa1 และมีแนวโน้มอันดับเครดิตที่ มีเสถียรภาพ (stable outlook)
ภาพรวมอันดับเครดิตของประเทศไทย Baa1 stable (Baa1 มีเสถียรภาพ) นั้น สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ทำให้ประเทศมีความสามารถในการรับมือกับแรงกระแทก หรือภาวะช็อก ที่รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ กันชนทางการคลังขนาดใหญ่ของประเทศไทยก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังช่วยให้ประเทศไทยมีความสามารถในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดอย่างแข็งแกร่งอีกด้วย แม้ว่าจะทำให้หนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นก็ตาม
เศรษฐกิจขนาดใหญ่และความหลากหลายของประเทศไทยยังเป็นแรงหนุนความสามารถในการรองรับผลกระทบฉับพลัน จากการเปิดรับภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก