ถอดบทเรียน 'ความปลอดภัย' ต้องเรียนรู้ วิ่งหนี-หลบ-สู้

ถอดบทเรียน 'ความปลอดภัย' ต้องเรียนรู้ วิ่งหนี-หลบ-สู้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้การเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก เพราะการดำรงชีวิตในสังคมนั้น อาจเกิดเหตุที่ไม่สามารถคาดเดาได้ในทุกช่วงเวลา เช่นเดียวกับเหตุการณ์กราดยิงสยามพารากอนเมื่อสัปดาห์ก่อน

กรมการขนส่งทางรางถอดบทเรียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกำชับเรื่องข้อปฏิบัติการด้านความปลอดภัยที่ผู้ให้บริการระบบรางและผู้โดยสารต้องคำนึงถึง โดยยกกรณีศึกษาจากเหตุการณ์สยามพารากอน ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ดำเนินการปิดประตูทางเข้า – ออกรถไฟฟ้าทันทีที่ได้รับการแจ้งเหตุ นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และปฏิบัติการตามระเบียบด้านความปลอดภัยของผู้โดยสาร

อย่างไรก็ดี การปฏิบัติของผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในครั้งนี้ เป็นไปตามแผนเผชิญเหตุ ปิดกั้นพื้นที่ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่โดยไม่จำเป็น ป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา และเป็นการป้องกันเหตุลุกลาม แม้ว่าการปิดกั้นทางเข้า - ออกนั้นจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวก แต่นับเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้โดยสาร

พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์สยามพารากอนสู่การกำชับด้านความปลอดภัยของระบบรางว่า กรมฯ ได้กำชับและขอความร่วมมือผู้ให้บริการระบบรางทุกราย กำชับเจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบสัมภาระของผู้โดยสาร เพื่อป้องกันการนำอาวุธ รวมทั้งมีดและของมีคม เข้ามาในพื้นที่ที่ให้บริการระบบราง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุทำร้ายบนสถานีหรือบนรถขนส่งทางรางหรือการไปก่ออาชญากรรมเมื่อออกนอกสถานี

นอกจากนี้กำชับไปถึงผู้ประกอบการให้มีการฝึกซ้อมเหตุการณ์จำลองโดยเฉพาะกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินประเภทต่างๆ บริเวณสถานีรถไฟ/รถไฟฟ้า และบนขบวนรถ และส่วนสำคัญคือการฝึกซ้อมขั้นตอนอพยพผู้โดยสารและเน้นย้ำให้ผู้ให้บริการระบบรางประกาศข้อมูล Public Announcement (PA) ให้ผู้โดยสารทั้งในขบวนรถและที่สถานีได้รับทราบข้อมูลเหตุฉุกเฉิน และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารการปิดทางเข้า-ออกของสถานีให้ผู้ใช้บริการรถไฟได้รับทราบทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วย

ขณะที่ตัวผู้โดยสาร ขอความร่วมมือในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าต้องดำเนินการตามหลักปฏิบัติสากลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแนะนำ คือ “วิ่งหนี-หลบ-สู้” (run-hide-fight) โดยผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าจะต้องตั้งสติ และพยายามวิ่งหนีออกจากพื้นที่ที่ผู้ก่อเหตุอยู่ให้เร็วที่สุด และหาที่ซ่อนตัวไม่ให้ผู้ก่อเหตุเห็น แต่หากมีข้อจำกัดไม่สามารถหลบหนีได้ ต้องสู้หรือโจมตีอย่างรุนแรงและรวดเร็ว

ท้ายนี้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินบนขบวนรถไฟฟ้าหรือบนชั้นชานชาลาผู้โดยสารสามารถกดปุ่มแจ้งเหตุ (passenger intercom)กับพนักงานควบคุมขบวนรถไฟฟ้า เพื่อติดต่อไปยังศูนย์ควบคุมการเดินรถและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้โดยสารเมื่อถึงสถานีรถไฟฟ้าถัดไปให้ออกจากขบวนรถไฟฟ้าโดยเร็ว

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการถอดบทเรียนด้านความปลอดภัยต่อผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการระบบราง ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งการขนส่งสาธารณะใกล้ตัวประชาชน