กรรมการเฟดเสียงแตกประเด็นขึ้นดอกเบี้ย เหตุแนวโน้มศก.ไม่แน่นอน
รายงานประชุมชี้กรรมการเฟดเสียงแตกประเด็นขึ้นดอกเบี้ย เหตุแนวโน้มศก.ไม่แน่นอน และเฟดควรจะดำเนินการอย่างระมัดระวังในการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 19-20 ก.ย.ในวันพุธ (11 ต.ค.) โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน และภาวะในตลาดการเงินแล้ว เฟดควรจะดำเนินการอย่างระมัดระวังในการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยควรจะอิงตามข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับมา มากกว่าที่จะกำหนดแนวทางอัตราดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า
รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่าเฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 1 ครั้งในการประชุมในอนาคต แต่กรรมการอีกส่วนหนึ่งมองว่า เฟดไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก
รายงานการประชุมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กรรมการเฟดตระหนักถึงความเสี่ยงที่ไม่ใช่เฉพาะเงินเฟ้ออย่างเดียวเท่านั้น โดยตลาดพลังงานและตลาดอาหารทั่วโลกจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นรอบใหม่ ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก, การประท้วงของแรงงาน และตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะตึงตัว ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างคาดไม่ถึง และยังส่งผลกระทบต่อการจ้างงานด้วย
"กรรมการเฟดส่วนใหญ่ยังคงมองว่า ทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนเหตุผลที่ว่า เฟดควรจะดำเนินการอย่างรอบคอบระมัดระวัง ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก" รายงานการประชุมเฟดระบุ
สำหรับการประชุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ FOMC มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี และเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ดี ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (dot plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 1 ครั้ง สู่ระดับ 5.6% ภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง สู่ระดับ 5.1% ในช่วงสิ้นปี 2567 และแตะ 3.9% ในช่วงสิ้นปี 2568 ขณะที่แตะ 2.9% ในช่วงสิ้นปี 2569 ขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 2.5%