'มนพร' สั่งเปลี่ยนโฉมท่าเรือคลองเตย รับเรือสำราญ ยกระดับสู่ Smart Port
"มนพร" สั่งการบ้าน กทท. ปั้นท่าเรือกรุงเทพรับเรือสำราญ พร้อมยกระดับสู่ Smart Port เตรียมย้าย 101 ครอบครัวชุมชนคลองเตย สร้างทางด่วนเชื่อมท่าเรือ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมมอบนโยบาย พร้อมตรวจเยี่ยมการดำเนินงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมระบุว่า ตนได้สั่งการให้ กทท.เร่งดำเนินการขยายขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของการขนส่งสินค้าทางเรือของประเทศไทย และปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน โปร่งใส และไม่ให้มีข้อกังขา ขณะเดียวกันให้เร่งดำเนินการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ยกระดับสู่ Smart Port พร้อมกับการพัฒนาชุมชนโดยรอบด้วย
"นโยบายรัฐบาลต้องการสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งการเดินทางทางน้ำเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สามารถสนับสนุนการท่องเที่ยวได้ ดังนั้นการท่าเรือฯ ต้องเร่งพิจารณาการพัฒนาท่าเทียบเรือท่องเที่ยว ปรับปรุงบริเวณตึก OB ท่าเรือกรุงเทพ รองรับเรือสำราญขนาดกลาง และขนาดใหญ่ และรองรับผู้โดยสารกว่า 6,000 คน โดยการก่อสร้างที่พักคอย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ"
โดยปัจจุบันเทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นจากจำนวนเรือสำราญขนาดใหญ่จอดเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังในปี 2566 มีจำนวนสูงถึง 60 ลำ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากในปี 2565 ที่มีจำนวน 30 ลำ ส่วนท่าเรือกรุงเทพ เรือสำราญดังดล่าว ล่องผ่านร่องน้ำเจ้าพระยา เริ่มกลับมาในปี 2566 แล้ว 1-2 ลำ จากช่วงก่อนโควิด-19 มีประมาณ 10 กว่าลำ ดังนั้น กทท. จึงต้องเตรียมความพร้อมรองรับดีมานด์ส่วนนี้
อย่างไรก็ดี กทท.ต้องเร่งประสานไปยังหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และกรมศุลกากร เพื่อจัดระบบอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนทำเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางทางน้ำในกรุงเทพ และการท่องเที่ยวทางถนนตามจุดท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อทำให้แพ็คเกจเหล่านี้เป็นทางเลือกแก่นักท่องเที่ยว โดยอาจจัดเป็นลักษณะการท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริป (One Day Trip) เบื้องต้นคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 2567
นอกจากนี้ ตนได้ผลักดันให้ กทท.เร่งดำเนินโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กิโลเมตร วงเงินกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนระหว่าง กทท. 50% และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 50% สถานะเบื้องต้นโครงการผ่านการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA) และผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดมำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) ซึ่งทาง กทพ. จะเป็นผู้ดำเนินการจัดการประมูล คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า และเริ่มก่อสร้างในปี 2567 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2570 ซึ่งโครงการนี้เมื่อเปิดให้บริการแล้ว จะลดผลกระทบปัญหาจราจรระหว่างท่าเรือกรุงเทพกับการจราจรบนท้องถนนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ทั้งนี้ การพัฒนาทางด่วน S1 จะมีพื้นที่ชุมชนโดยรอบได้รับผลกระทบจำนวน 101 หลังคาเรือน ซึ่ง กทท.อยู่ระหว่างเจรจากับประชาชนกลุ่มดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบ โดยก่อนหน้านี้ได้ศึกษาแนวทางเลือกไว้ 3 แนวทาง คือ
1.ให้ย้ายไปอาศัยในอาคารที่ กทท. เตรียมสร้างในรูปแบบคอนโด
2.ย้ายไปอยู่บริเวณที่ดินย่านหนองจอก
3.การให้เงินชดเชย
อย่างไรก็ตาม กทท.คาดว่าจะเจรจากับชุมชนได้ข้อสรุปภายในปีนี้