‘บพท.’ เสนอรัฐบาลคงกลไก ‘ศจพ.’ แก้ 'ยากจน’ แบบพุ่งเป้าระดับชุมชน – พื้นที่
“บพท.” ชี้สถานการณ์ความยากจนไทยยังน่าเป็นห่วง หนุนรัฐบาลคงบอร์ด “ศจพ.” เดินหน้าแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าในระดับพื้นที่ คู่ขนานนโยบายแก้จนจากส่วนกลาง ควบคู่กับการเพิ่มทักษะให้กับผู้มีรายได้น้อยรีสกิลให้ได้ทักษะใหม่รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต-แก้จนยั่งยืน
การแก้ปัญหาความยากจนเป็นนโยบายสำคัญที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ โดยรัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาความยากจนด้วยการยกระดับรายได้ครัวเรือน เพิ่มรายได้เกษตรกร รวมทั้งปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีนโยบายการการแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้า โดยได้มีการจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เพื่อเป็นกลไกในการบริหารการแก้ไขปัญหาความยากจน
โดยกลไกของ ศจพ.มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นฝ่ายเลขานุการ และให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อน(ศจพ.)เป็นกลไกทำงานระดับพื้นที่ทั่วประเทศ มีการจัดทำข้อมูลความยากจนรายจังหวัด ผ่านการทำระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) โดยมีการตรวจสอบข้อมูลคนยากจนในระดับพื้นที่ โดยมีหน่วยบริหารจัดการทุนด้านวิจัยระดับพื้นที่ (บพท.)
เป็นกลไกร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนในระดับพื้นที่โดยใช้เครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่สอบทานข้อมูลความยากจน รวมทั้งให้ทุนกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในการทำวิจัยเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ และแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนในพื้นที่
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่าปัจจุบันสถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยถือว่ายังมีความรุนแรงแม้ว่าคนจนตามนิยามที่อยู่ใต้เส้นความยากจน (poverty line) ตามข้อมูลจะมีอยู่ประมาณ 4.4 ล้านคน แต่หากดูในเรื่องของมิติอื่นๆที่นอกเหนือจากรายได้ เช่น สุขภาพ ความเป็นอยู่ และการศึกษา รวมทั้งการเข้าถึงบริการภาครัฐจำนวนคนจนจะเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่มีประชากรจำนวนหนึ่งที่แม้มีรายได้อยู่เหนือเส้นความยากจนแต่ก็มีความเสี่ยงที่จะกลับไปยากจนได้ซึ่งในลักษณะนี้เรียกว่า “คนจนอ่อนไหว”ที่มีความเสี่ยงที่จะกลับไปเป็นคนจนได้ในอนาคตหากเจอกับภาวะวิกฤติ รวมทั้งคนจนที่เกิดจากภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันด้วย
ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาความยากจนมีความเป็นพลวัตรคือมีการเปลี่ยนแปลงไปมา และมีความคลาดเคลื่อนระหว่างข้อมูลระหว่างส่วนกลางและข้อมูลในระดับพื้นที่ ซึ่งต้องมีการติดตามตรวจสอบอยู่เสมอ บพท.จึงเห็นว่าการติดตามแก้ปัญหาความยากจนจึงต้องมีกลไกที่เหมาะสมโดยเห็นว่าที่ผ่านมากลไกของ ศจพ.นั้นเป็นกลไกการแก้ปัญหาความยากจนที่ดีเนื่องจากมีกลไกที่ลงไปถึงระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ชุมชนในระดับตำบล ซึ่งทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลคนจนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างถูกต้องถือว่าเป็นรูปแบบที่สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกลไกระดับชาติ และระดับพื้นที่ได้
“ในการแก้ปัญหาความยากจนต้องมีกลไกระดับชาติ และมีเจ้าภาพหลัก ในการแก้ไขปัญหาความยากจนโดย มองการแก้ไขแบบภาพรวม อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ การแก้ปัญหาความยกจนเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากปัญหาปัจจุบันที่เกิดขึ้นคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เช่น กรมต่างๆ ในกระทรวงมหาดไทยต่างก็มีโครงการแก้ปัญหาความยากจนและมีตัวชี้วัดของตัวเอง ทำให้ต่างคนต่างทำงาน ไม่ได้ทำแบบบูรณาการอย่างแท้จริง”
ทั้งนี้หากไปดูงานวิจัยในอดีตจะเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้คนจนมาจากหลายปัจจัย ซึ่งการเจอวิกฤติภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง และ วิกฤติการณ์โควิด-19 รวมทั้งความยากจนที่เกิดจากโครงการรัฐ เช่น ต้องย้ายบ้านจากถิ่นฐานเดิมเพราะถูกเวนคืนที่ดิน เช่นจากการสร้างเขื่อน ทำให้ วิถีชีวิตปกติ ต้องเปลี่ยนแปลงไป และยังขาดทักษะใหม่ที่จะพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบันจนทำให้ขาดรายได้ในการดำรงชีพจึงทำให้เกิดปัญหายากจนขึ้น นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆเช่น จากพฤติกรรม การเป็นหนี้สินเกินตัว การติดยาเสพติดติด การพนัน ดังนั้นการแก้ปัญหาจะทำได้ จะต้องลงลึกในระดับครัวเรือน ซึ่งเรียกว่าการแก้ปัญหาแบบ “Target Based approach” ซึ่งรัฐบาลส่วนกลางจะต้องมีความร่วมมือกับท้องถิ่นในการให้ความรู้ และฝึกอบรม ให้ คนในท้องถิ่นและ ระดับฐานรากได้มีการความรู้ความเข้าใจทางการเงินส่วนบุคคล รวมไปถึงการพัฒนาอาชีพด้วย
ขณะที่ในระดับของผู้ประกอบการชุมชนที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากรัฐบาลจะต้องลงไปให้ความรู้ด้านการเงิน บัญชีเบื้องต้นสำหรับธุรกิจ การดูแลสภาพคล่องกิจการ ความรู้ด้านธุรกิจ เพื่อคำนวณต้นทุน และการตั้งราคาสินค้าได้ โดยหน่วยงานที่จะทำเรื่องนี้ได้ในระดับท้องถิ่นคือมหาวิทยาลัยต่างๆในพื้นที่ซึ่งมีความพร้อม ที่จะเป็นศูนย์บ่มเพาะ (incubator) ให้กับชาวบ้านในชุมชน รวมทั้งขณะนี้ บพท.ได้มีการรวบรวมเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะใช้กับในแต่ละชุมชน (appropriated technology ) ซึ่งในขณะนี้ มี 2,000 เทคโนโลยีพร้อมใช้งานที่มีการพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยหากรัฐบาลสนับสนุนทางการเงินเบื้องต้นให้กับท้องถิ่นเอาต้นแบบเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยมาผลิตใช้งาน และการถ่ายทอดความรู้ให้กับนวัตกรชาวบ้าน เพื่อให้เกิดนวัตกรชุมชนคือคนในความชุมชนที่มีความรู้สามารถเอาเทคโนโลยีไปต่อยอดและใช้ได้ก็จะทำให้การแก้ปัญหาความยากจนได้เห็นผล
“ปัจจุบันรัฐบาลจะมุ่งพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ไม่ได้เพิ่มการจ้างงานมากนัก ขณะนี้มีความเสี่ยง จากเทคโนโลยีโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทั้งการนำ AI หุ่นยนต์ และ แชทบอร์ด มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆซึ่งคาดการณ์ว่าแรงงานอุตสาหกรรมจะต้องตกงานอีกจำนวนมากจากเทคโนโลยีดังกล่าว
ดังนั้นภาคเกษตรและบริการ จะเป็น คำตอบของไทยในการเพิ่มการจ้างงานและแก้ปัญหาความยากจน โดยต้องมุ่งเน้นเรื่อง การดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ การส่งเสริมธุรกิจในชุมชน ให้พึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งมีตัวอย่างที่สำเร็จแล้ว เช่นเครือข่ายปลูกไผ่,เครือข่ายผลิตข้าวแต๋น สามารถ ทำรายได้ 3,000 ล้านบาทต่อปี ,ทุเรียนกวนยะลา รายได้ 300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทั้ง ธุรกิจทั้งหมดใช้ local content ในไทย และใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้ เพราะทุเรียน แต่ละที่รสชาติไม่เหมือนกัน คำตอบก็คือรัฐบาลต้องทำทั้ง 2ขา คือการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม และการดูแลเศรษฐกิจฐานรากผ่านภาคเกษตรและบริการ.”ดร.กิตติกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์คนจน ปี 2565 ตามข้อมูลของภาครัฐระบุว่า "คนจนเป้าหมาย" ในประเทศไทย ที่ได้รับการสำรวจว่าจน(Survey-Based) จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ .) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ลงทะเบียนว่าจน (Register-Based) จากข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2562 พบว่าจำนวนครัวเรือนที่ได้รับการสำรวจ (จปฐ.) 12,817,903 ครัวเรือน มีครัวเรือนยากจน(จปฐ.) จำนวน 1,047,063 ครัวเรือน และจำนวนคนที่ได้รับการสำรวจ (จปฐ.) 36,103,806 คน มีจำนวนคนยากจน (จปฐ.) จำนวน 3,438,515 คน และคนจน (จปฐ.) ที่ไปลงทะเบียนสวัสดิการ 1,025,782 คน พบว่าจำนวนครัวเรือนยากจน (จปฐ.) คนยากจน (จปฐ.) และคนจนที่ไปลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ มีจำนวนเพิ่มขึ้นในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2562 คิดเป็นร้อยละ 2.67 ของจำนวนคนที่ได้รับการสำรวจ จปฐ.
ดังนั้นเมื่อความยากจนสามารถวัดได้จากดัชนีความยากจนหลายมิติ หรือ ดัชนี MPI (Multidimensional Poverty Index) ที่พิจารณาจาก 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ สามารถวิเคราะห์ได้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า จำนวนคนจนมิติด้านสุขภาพ จำนวน 218,757 คน ด้านความเป็นอยู่จำนวน 220,037 คน ด้านการศึกษา 272,518 คน ด้านรายได้จำนวน 506,647 คน และด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐจำนวน 3,335 คน
ขณะที่จากรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า TPMAP หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท. ได้พัฒนา แพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (Provincial Poverty Alleviation Operating System : PPAOS) ผ่านการคัดเลือกจังหวัดตัวแทน จังหวัดยากจน
20 จังหวัดในแต่ละส่วนภูมิภาคของประเทศ ประกอบด้วย ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา และได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลและค้นหา สอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจน โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล TPMAP สามารถดำเนินการคันหาและ
สอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจนทั้งหมด 231,021 ครัวเรือน มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนทั้งหมด
1,041,333 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2566) จากการสำรวจค้นหาสอบทานพบว่า จังหวัด ที่มีจำนวนครัวเรือนยากจนมากที่สุด คือ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 19,261 ครัวเรือน รองลงมา ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จำนวน 19,005 ครัวเรือน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 17,138 ครัวเรือน
ส่วนข้อมูลจากรายงานของธนาคารโลกวิเคราะห์ความยากจนและแนวโน้มความเหลื่อมล้ำของไทยว่า ในระหว่างปี2558-2561อัตราความยากจนของไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ9.8 หรือจาก จำนวน 4.85 ล้านคน เป็น 6.7 ล้านคนและจำนวนประชากรยากจนกระจายในทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัด จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ