เปิดรายงาน"ทูตพาณิชย์ กรุงเทลอาวีฟ " วิเคราะห์ สงครามอิสราเอล-ฮามาส
สคต.กรุงเทลอาวีฟ เผย กระทรวงการคลังอิสราเอลประมาณสงครามอิสราเอล-ฮามาส เสียหายพันล้านเชคเกล ขณะที่ผลกระทบส่งออกไทย มีทั้งบวกและลบต่อการส่งออกไทย หากยืดเยื้อกระทบส่งสินค้าไปอิสราเอล จากความล่าช้าและค่าขนส่งแพงขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้รายงานสถานการณ์สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส โดยเฉพาะผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศอิสราเอลในภาวะสงคราม โดยข้อมูลจากกระทรวงการคลังอิสราเอลประมาณการว่าเศรษฐกิจอิสราเอลได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านเชคเกล เศรษฐกิจอิสราเอลถดถอยอย่างแน่นอนในระยะสั้นทั้งในช่วงสงครามและหลังสงคราม รัฐบาลอิสราเอลและประชาชนเชื่อมั่นว่าจะชนะสงครามได้ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปิดศึกการต่อสู้รบทางตอนเหนือด้วย สงครามคงจะยืดเยื้อออกไปอาจจะใช้เวลานานเป็นเดือนค่าสงครามประเมินเป็นพันล้านเชคเกล
เมื่อมีการระดมกำลังทหารกองหนุน 300,000 นาย การใช้จ่ายของรัฐบาลที่สูงขึ้นและภาคส่วนต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงการชะลอตัวได้ สถานการณ์ของสงครามยังก่อให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของอิสราเอล
ผลกระทบที่เป็นไปได้ของสงครามที่ชายแดนฉนวนกาซาส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ และต่อนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งอิสราเอลด้วย และอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อได้คือราคาน้ำมันซึ่งได้เพิ่มขึ้นแล้วในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการพัฒนาด้านความปลอดภัยในตะวันออกกลาง การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันสำหรับอิสราเอลหมายถึงการเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงโดยตรง และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้านำเข้าทางอ้อม การเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงยังส่งผลให้ต้นทุนสงครามเพิ่มขึ้นซึ่งต้องใช้การขนส่งจำนวนมาก และยังเพิ่มภาระให้กับประชาชนในช่วงสงครามอีกด้วย ซึ่งคาดว่าในระยะ 3- 6 เดือน นับจากนี้ ราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้นแน่นอนแต่อาจจะไม่ได้เพิ่มสูงมาก
ปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกข้อหนึ่งเกี่ยวข้องกับต้นทุนของสงคราม จากการวิเคราะห์ต้นทุนในการใช้กำลังทหารของปฏิบัติการภาคพื้นดิน (Operation Protective Edge) และสงครามกับเลบานอน สามารถประเมินได้ว่า “ต้นทุนของสงครามในปัจจุบันจะมีมูลค่าอย่างน้อย 1.5% ของ GDP (อย่างน้อย NIS 27 พันล้าน) ซึ่งหมายถึง ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1.5% ของ GDP ในปีหน้า สำหรับอัตราการเติบโต GDP ของประเทศอิสราเอล จะต่ำกว่าที่คาดการไว้ก่อนเกิดสงคราม คือลดลงจาก 3% เป็น 2.2%
นอกจากนี้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเทลอาวีฟ ยังวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อการค้าในระยะยาวหากสงครามยืดเยื้อออกไปนานกว่าทุกครั้ง ซึ่งยังไม่มีใครสามารถตัดสินได้ว่า สงครามจะยุติเมื่อใด เพราะหากมีปัจจัยอื่นแทรกแซง เช่น การอุดหนุนกลุ่มฮามาสจากประเทศอาหรับ สมมุติฐานว่า สงครามอาจจะใช้เวลานาน 1- 2 เดือน กว่าจะยุติการสู้รบ แบ่งช่วงระยะเวลาออกเป็น ดังนี้
1. ในระยะสั้น หากสงครามยืดเยื้อระหว่างเดือนต.ค. 2566 ถึง พ.ย. 2566 เศรษฐกิจอิสราเอลถดถอยในภาวะสงคราม การค้าระหว่างประเทศรวมทั้งไทยลดลงอย่างมาก
2.ในระยะกลาง ตั้งแต่เดือนธ.ค. 2566 ถึงก.พ. 2567 ในช่วง 3 เดือนแรกหลังยุติสงคราม เป็นช่วงฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจ การค้ากับต่างประเทศน่าจะมีสัญญานที่ดี เริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ
3. ในระยะยาว หลังสงครามสงบมาอย่างน้อย 3 เดือนแล้ว อิสราเอลเข้าสู่ภาวะปกติ มูลค่าการค้ากับไทยน่าจะเพิ่มมากขึ้น
“อิสราเอล เป็นประเทศที่เศรษฐกิจเข้มแข็งยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้าทันสมัย ดังนั้น หากสงครามยุติได้เร็ว ก็คาดว่าอิสราเอลจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วมาก”
สำหรับการค้าระหว่างไทยกับอิสราเอลในภาวะปกติ จะเห็นได้ว่า มีแนวโน้มที่ดีมาก มูลค่าการส่งออกไทยมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูงทุกปี ในปี 2564 อัตราขยายตัว 41 % ในปี 2565 ขยายตัว 14 % และ ในปี 2566 (มค.-ส.ค.) 12.62% อย่างไรก็ตามผลกระทบของสงครามต่อการค้าของไทย ในเชิงบวก โดยสงครามและหลังสงคราม โอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นจากภาวะสงครามและการขาดแคลนสินค้า ประเทศไทยอาจมีโอกาสส่งออกสินค้าจำเป็นไปยังอิสราเอลเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์
สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ในระยะหลังสงครามน่าจะมีการนำเข้าปกติหรืออาจเพิ่มมากขึ้น แต่การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับน่าจะลดลง และต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะฟื้นตัว
ด้านผลกระทบเชิงลบ จะทำให้เกิดปัญหาการขนส่งสินค้าไทยไปยังประเทศอิสราเอลอาจจะล่าช้าและราคาค่าขนส่งแพงมากขึ้น และอยู่ภาวะสงครามยืดเยื้อและชยายวงกว้าง สินค้านำเข้าจากอิสราเอลมายังไทย เช่น เพชร ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ เป็นต้น อาจมีปัญหาในการผลิตและการส่งออกจากอิสราเอล และ แม้ไทยอาจจะส่งออกสินค้าอาหารได้เพิ่มขึ้น แต่การส่งออกสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ตลาดอิสราเอลอาจชะลอลงจากกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวอิสราเอลลดลงเนื่องจากภาวะสงคราม เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากนี้นักธุรกิจอิสราเอลอาจชะลอการเดินทางเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศไทย ในปี 2567 หากสงครามยังไม่ยุติ