จับตาสงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ขยายวง ดันราคาน้ำมันพุ่ง การค้าโลกหดตัว 10-15%

จับตาสงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ขยายวง ดันราคาน้ำมันพุ่ง การค้าโลกหดตัว 10-15%

นักวิชาการ-สรท.ชี้ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ห่วงขยายวงกว้าง ดันราคาน้ำมันพุ่ง ทำมูลค่าการค้าโลกชะลอลง 10-15% หวั่นรุนแรงกระทบต่อเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านคลองสุเอซและช่องแคบฮอร์มุซ

 

Key Points

  •  สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังมีความยืดเยื้อ และมีหลายประเทศให้การสนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย
  •  ทั่วโลกกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินสถานการณ์ผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
  •  ผู้ส่งออกไทยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบต่อเส้นทางเดินเรือหากสงครามขยายวง
  • หากสถานการณ์สงครามบานปลายจะทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นและทำให้การค้าโลกชะลอตัวลง 10-15%

การสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสยังคงมีความยืดเยื้อมาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2566 และมีแนวโน้มที่จะขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีหลายประเทศให้การสนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ใช่แหล่งผลิตน้ำมันดิบสำคัญของภูมิภาค

นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส อาจจะใหญ่กว่าสงครามรัสเซียและยูเครน ภายใต้สถานการณ์ที่ขยายวงกว้างและบานปลาย เพราะสงครามรัสเซียและยูเครนอยู่วงจำกัด 

แต่กรณีสงครามในอิสราเอลเป็นเรื่องของสหรัฐ ยุโรป อิสราเอล อังกฤษ แคนาดา กับชาติกลุ่มอาหรับและที่ไม่ใช่อาหรับ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ตะวันออกกลางมีน้ำมันกว่า 70% ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นแน่นอน แม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันยังทรงตัวที่ระดับ 82-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะประเทศอาหรับยังเข้าร่วมเต็มที่ เช่น อิหร่าน กาตาร์ แต่คาดว่าจะเข้าร่วมแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนทองคำปรับขึ้นสูงเกิน 2,000 ดอลลาร์

จับตาสงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ขยายวง ดันราคาน้ำมันพุ่ง การค้าโลกหดตัว 10-15%

ด้านการค้าในตะวันออกกลางมี 15 ประเทศ เป็นตลาดที่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายน้ำมัน ซึ่งกระทบต่อการส่งออกน้ำมันจะส่งผลต่อการค้าโลกทำให้มูลค่าการค้าโลกชะลอลง 10-15% หากสงครามบานปลาย

ส่วนผลกระทบต่อการค้าไทยนั้น ไทยส่งออกไปตะวันออกกลางมูลค่าหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี โดยมีตลาดใหญ่ 3 ตลาด คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซาอุดิอาระเบียและอิสราเอล โดยหากสงครามบานปลายจะส่งผลให้มูลค่าการค้าหายไป 10-15% 

แต่กรณีของอิสราเอลจะกระทบด้านแรงงาน และด้านการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทยปีละ 7 แสนคน โดยอิสราเอลมาเที่ยวไทยปีละ 2 แสนคน

นายอัทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้สงครามเริ่มบานปลายจากกลุ่มประเทศอาหรับออกมาแสดงความเห็นต่อสงครามให้ยุติ ส่งแรงกดดันไปยังอิสราเอล จากการโจมตีผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดความโกรธแค้นมากขึ้นหากยังไม่หาทางออกในเรื่องของการเปิดให้ประชาชน ผู้บริสุทธิ์ออกจากพื้นที่ 

แม้ว่าอิสราเอลจะยึดฉนวนกาซ่าได้แต่เรื่องก็ไม่ยุติ จะกลายเป็นหนังยาว ทั้งกลุ่มกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ กลุ่มอิสลามิกจิฮัด และกลุ่มที่ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ 

รวมทั้งหากลากยาวถึงสิ้นปี 2566 จะซ้ำเติมการส่งออกไทยที่อาจติดลบ 2% ทั้งนี้สงครามจะบานปลายหรือไม่ขึ้นอยู่อิสราเอลและท่าทีของสหรัฐที่แสดงออกว่าหนุนอิสราเอล แต่หากสหรัฐบอกให้เข้าสู่การเจรจาหรือหยุดยิงก็น่าจะทำให้สงครามจบได้เร็วไม่ลากยาว

จับตาสงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ขยายวง ดันราคาน้ำมันพุ่ง การค้าโลกหดตัว 10-15%

สรท.ห่วงสงครามยกระดับสู่ภูมิภาค   

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ราคาน้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับมากกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากการตรึงกำลังการผลิตและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว โดยหากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ยืดเยื้อและขยายวงกว้างสู่ระดับภูมิภาคจะกระทบอุปทานการผลิตน้ำมันให้หดตัวลง ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกสูงขึ้น

รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน และการขนส่งลำเลียงน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน ซึ่งทางเหนือของช่องแคบติดกับพื้นที่ตอนใต้ของอิหร่าน ขณะที่ทางใต้ของช่องแคบติดกับชายฝั่งตะวันออกของยูเออีและโอมาน ซึ่งมีปริมาณน้ำมัน 17.2 ล้านบาร์เรลต่อวันที่ขนส่งผ่านเส้นทางนี้ อาจเป็นไปได้ที่จะกระทบราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้สูงขึ้นระยะสั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำมันเป็นปัจจัยผลิตที่สำคัญของโลก เมื่อราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปริมาณปัจจัยการผลิตที่ลดลง ภาคการผลิตโลกชะลอตัวลงมากกว่าในปัจจุบัน และภาระต้นทุนที่ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันต้องแบกรับเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าสินค้าอุปโภคและบริโภคสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อปลายทาง

ห่วงเพิ่มแรงกดดันเศรษฐกิจโลก

ขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ท่ามกลางอุปสงค์ที่ชะลอตัวจากการใช้นโยบายการเงินตึงตัว คงดอกเบี้ยนโยบายสูงต่อเนื่องส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภค และต้นทุนของผู้ผลิตอยู่ก่อนแล้ว ประกอบกับความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่หากขยายวงกว้าง และอุปทานน้ำมันยังตึงตัวอาจส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นอีกในช่วงที่เหลือของปี

สถานการณ์ขนส่งสินค้าทางทะเลไปตะวันออกกลาง ยุโรป ที่ต้องผ่านเส้นทางคลองสุเอช ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้ฉนวนกาซา 350-400 กิโลเมตร โดยยังไม่มีรายงานจากสายการเดินเรือว่าจะปิดเส้นทางเดินเรือพื้นที่ดังกล่าว แต่อาจปรับค่าบริการส่วนเพิ่ม (War Risk Surcharge) เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่แล้ว สำหรับเรือที่ต้องผ่านเส้นทางเสี่ยงต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือพื้นที่ความไม่สงบ 

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทยอาจต้องซื้อประกันความเสี่ยงจากการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางดังกล่าวให้ครอบคลุมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในเทอมการค้าที่เหมาะสม อาทิ Risk cost (premium rate)

นอกจากนี้ หากสงครามมีความรุนแรงและลุกลามปานปลายจนกระทบเส้นทางการขนส่งสินค้าผ่านคลองสุเอช สายการเดินอาจมีความจำเป็นการเปลี่ยนเส้นทางโดยเฉพาะเส้นทางที่จะผ่านไปปลายทางยุโรป อาจต้องผ่านแหลมกู๊ดโฮป ทวีปแอฟริกา ซึ่งต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น 1-2 สัปดาห์ และค่าระวางอาจปรับเพิ่มขึ้น

ห่วงสงครามยืดเยื้อกระทบส่งออกไทย

นายธนวรรธน์พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบต่อไทยทางตรง คือ

1.แรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล ซึ่งได้รับผลกระทบด้านความมั่นคงปลอดภัยและรายได้ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของไทยจะให้ความช่วยเหลือได้

2.การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล ซึ่งมีมูลค่าส่งออกและนำเข้าปีละ4 หมื่นล้านบาทคิดเป็น 0.2% ของมูลค่าการค้ารวมของไทยโดยอิสราเอลไม่ใช่คู่ค้าสำคัญในลำดับต้นจึงเชื่อว่าสงครามจะไม่กระทบการค้า2 ฝ่ายมากนักประมาณ ติดลบ 0.1-1.7%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินผลกระทบต่อการส่งออกไทยจากสงครามอิสราเอล 3 กรณี ดังนี้

1.กรณีสงครามยืดเยื้อ (โอกาสเกิด 30%) ผลกระทบมูลค่าการส่งออก 370 ล้านดอลลาร์ ส่งออกหดตัว 0.1%

2.กรณีสงครามยืดเยื้อจนปิดเส้นทางขนส่ง (โอกาสเกิด10%) ผลกระทบมูลค่าการส่งออก 850 ล้านดอลลาร์ ส่งออกหดตัว 0.3%

3.กรณีสงครามขยายวงกว้างทั่วตะวันออกกลาง (โอกาสเกิดน้อยกว่า 5%)กระทบต่อมูลค่าการส่งออก 4,770 ล้านดอลลาร์ ส่งออกหดตัว 1.7%

“พาณิชย์”จับตานำเข้าวัตถุดิบราคาพุ่ง

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของผลกระทบต่อราคาสินค้านั้น ขณะนี้น้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าและการขนส่งราคายังทรงตัว ยังไม่ได้ปรับสูงขึ้นและยังคงต่ำกว่าปีก่อนซึ่งราคาขึ้นไปแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล จึงยังไม่มีสัญญาณว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าในประเทศปรับสูงขึ้น

โดยที่ผ่านมากรมฯได้ประสานกับกระทรวงพลังงานเพื่อติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการจับตาราคาต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบสำคัญหลายรายการ โดยเฉพาะ ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งราคาวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารสัตว์เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากไทยผลิตเองได้บางส่วน และบางส่วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 

อย่างไรก็ตามสงครามอิสราเอล-ฮามาส ครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าไม่มากเท่ากับกรณีสงครามรัสเซียยูเครน เนื่องจาก อิสราเอล แลฮามาส ไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าเกษตร และปุ๋ยรายสำคัญของโลก หากจะกระทบก็เพียงปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันเท่านั้น