'คมนาคม' ขีดเส้น 30 วัน สางปัญหา 'แอชตัน อโศก'
“คมนาคม” ขีดเส้น 30 วันสางปัญหาทางเข้าออก “แอชตัน อโศก” หลังตั้งคณะทำงานเร่งศึกษาแนวทางลดผลกระทบประชาชน มั่นใจจะเป็นส่วนช่วยฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบการอนุญาตใช้พื้นที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในกรณีการอนุญาตใช้ทางเข้าออกในโครงการอาคารชุดแอชตัน อโศก
โดยประเด็นดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนกรณีอาคารชุดแอชตัน อโศก ได้เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อต้องการให้กระทรวงฯ พิจารณาแนวทางลดผลกระทบกรณีการปฏิบัติผิดพลาดของหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ดี ตนในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหานี้ จะเร่งศึกษาข้อมูล ผลกระทบและข้อเสนอแนะแนวทางต่างๆ ในเบื้องต้น ภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนดำเนินการให้แล้วเสร็จตามอำนาจหน้าที่ภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรณีการอนุญาตใช้ทางเข้าออกในโครงการอาคารชุดแอชตัน อโศก ทางศาลปกครองสูงสุดได้มีคำตัดสินไปแล้ว แต่ขณะนี้ศาลแพ่งได้รับพิจารณาคดีและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้ประชาชนยังใช้ทางเข้าออกได้ปกติ ดังนั้นขณะนี้กระทรวงฯ จึงจะเร่งหาแนวทางและมาตรการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อลดผลกระทบของประชาชน และฟื้นตัวความเชื่อมั่นจากนักลงทุน
นายสรพงศ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงฯ ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจกับคดีนี้ เพราะมองว่าหากเพิกเฉยก็อาจจะมีคดีในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับ รฟม.ในอนาคต อีกทั้งการพิจารณาเรื่องนี้จะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะภาครัฐมีความห่วงใยในกรณีนี้ และมีความจริงจังในการเร่งแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นกระทรวงฯ ยังได้หารือผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เพื่อพิจารณาให้สอดคล้องกฎหมายเดิมที่มี เช่น พรบ.ควบคุมอาคาร พรบ.แพ่งและพาณิชย์ พรบ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยต้องศึกษาก่อนว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในขณะนี้หรือไม่
สำหรับคณะทำงานดังกล่าวมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธาน และเชิญผู้แทนหน่วยงานเข้าร่วมเป็นองค์ประกอบคณะทำงานฯ อาทิ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
โดยจะทำหน้าที่ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวอย่างครบถ้วน รอบด้าน เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ พร้อมทั้งให้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางและข้อเสนอแนะ สำหรับแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้หลังจากได้ข้อสรุปของแนวทางลดผลกระทบแล้ว กระทรวงฯ จะเสนอรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนประสาน รฟม.ดำเนินการต่อไป