เปิดปูมธุรกิจ ‘รัสเซียน โอนลี่’ เมื่อรัสเซียยึดงานคนไทยในคราบ ‘นักท่องเที่ยวภูเก็ต’

เปิดปูมธุรกิจ ‘รัสเซียน โอนลี่’  เมื่อรัสเซียยึดงานคนไทยในคราบ ‘นักท่องเที่ยวภูเก็ต’

ส่งเสริมเศรษฐกิจ VS แย่งอาชีพคนในพื้นที่? รู้จัก “รัสเซียน โอนลี่” ธุรกิจของคนรัสเซียเพื่อคนรัสเซีย ชาวบ้านชี้ ธุรกิจ “รัสเซียน โอนลี่” โตพุ่ง กระทบผู้ประกอบการไทย แฝงมาในคราบนักท่องเที่ยว ครอบคลุมแท็กซี่-นำเที่ยว-ตัดผม-ค้าบริการทางเพศ

Key Points:

  • “รัสเซีย” ผงาดสู่นักท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของไทย ครองสถิติอันดับ 1 ใน “ภูเก็ต” โดยเริ่มมีความเคลื่อนไหวตั้งแต่ปลายปี 2022 หลังจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนรุนแรงขึ้น
  • นอกจากชาวรัสเซียจะเข้ามาในฐานะ “นักท่องเที่ยว” ยังพบว่า พวกเขาสนใจลงทุนในภูเก็ตกันคับคั่ง กว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ เรือยอชต์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากมาย
  • “รัสเซียน โอนลี่” คือชื่อเรียกธุรกิจโดยคนรัสเซียเพื่อคนรัสเซีย บ้างก็เป็นการประกอบอาชีพแบบผิดกฎหมาย ตั้งแต่ร้านตัดผม บริการรถรับส่ง ไปจนถึงอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง


เศรษฐกิจไทย ถูกขับเคลื่อนด้วย “เครื่องยนต์เศรษฐกิจ” 4 ตัว ได้แก่ การท่องเที่ยว ภาคการส่งออก การบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน ที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาเครื่องยนต์การท่องเที่ยวเพื่อติดสปีดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ “จีดีพี” เป็นหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 17% ของจีดีพี เคยสร้างรายได้เข้าประเทศสูงสุด 3 ล้านล้านบาทต่อปี และมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ดังกล่าว

แต่หลังจากโลกได้รู้จักกับ โควิด-19 หลายประเทศจึงเลือกดำเนินนโยบายกักตัวอย่างเข้มข้นและยาวนาน โดยเฉพาะ “จีน” กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทยในขณะนั้น แน่นอนว่า ผลสะเทือนที่ตามมาคือเศรษฐกิจไทยสั่นคลอนทันที ยิ่งแนวโน้มเศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดก็ยิ่งกระทบถึงกำลังซื้อชาวจีนไปด้วย

แต่ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน กลับมีกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียเข้ามีบทบาทแทนที่ กลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของไทย โดยรายงานจากสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ระบุว่า ปลายปี 2021 มี นักท่องเที่ยวรัสเซีย ราว 17,000 คน เดินทางมายัง จ.ภูเก็ต ร้านรวงที่เคยรองรับนักท่องเที่ยวด้วยป้ายภาษาจีนถูกปรับเปลี่ยนเป็นอักษรซีริลลิก (ตัวอักษรที่ใช้ในภาษารัสเซีย) แทน อาหารการกินอย่างซุปสีแดงรสเข้มข้นและเกี๊ยวนึ่งแบบรัสเซียก็ถูกวางจำหน่ายรอต้อนรับการมาถึงโดยพร้อมหน้าด้วย

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า  ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมายังประเทศไทย 791,574 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2565) ถึง 1,000% เฉพาะ “ภูเก็ต” พบว่า “รัสเซีย” ขึ้นแท่นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 แซงหน้า “จีน” ที่เคยรั้งแชมป์ไปเรียบร้อยแล้ว

การมาถึงของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียดูจะเป็นผลดีกับประเทศไทยไม่น้อย ช่วยต่อลมหายใจให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เคยซบเซาอย่างหนักจากมาตรการปิดเมืองในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทว่าไม่นานมานี้กลับพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์นักท่องเที่ยวรัสเซียใน จ.ภูเก็ต จากที่คิดว่า เม็ดเงินต่างชาติจะกระจายสู่ชุมชนกลับพบว่า ขณะนี้เกิดความตึงเครียดในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากชาวรัสเซียบางกลุ่มไม่ได้เข้ามาท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการหารายได้-สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนโดย “คนรัสเซีย” เพื่อ “คนรัสเซีย” ครอบคลุมตั้งแต่ร้านตัดผม แท็กซี่ บริการนำเที่ยว ไปจนถึงค้าบริการทางเพศ ทั้งหมดนี้ถูกเรียกรวมๆ ว่า “Russian-only Business” หรือ “ธุรกิจรัสเซียน โอนลี่”

เปิดปูมธุรกิจ ‘รัสเซียน โอนลี่’  เมื่อรัสเซียยึดงานคนไทยในคราบ ‘นักท่องเที่ยวภูเก็ต’

  • เริ่มจากหลบลี้สงคราม ปักหลักไทยเป็น “หลุมหลบภัยชั่วคราว”

ต้นปี 2565 คือช่วงเวลาที่ความขัดแย้งระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ปะทุขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 “วลาดิเมียร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซียลั่นกลองรบประกาศปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ การรุกรานในครั้งนั้นทำให้ “รัสเซีย” ถูกตัดขาดจากหลายประเทศด้วยมาตรการคว่ำบาตร ชาวรัสเซียที่เดินทางไปยังต่างประเทศรวมถึง “ภูเก็ต” ในขณะนั้นไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ เนื่องจากสายการบินหลายแห่งตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบินตรงมายังรัสเซีย

ข้อมูลจากสำนักข่าว “บีบีซี” (BBC) ระบุว่า เดือนมีนาคม 2565 ชาวรัสเซียติดอยู่ในไทยราว 7,000 คน จำนวนมากอยู่ใน จ.ภูเก็ต ปัญหาที่ตามมาหลังจากนั้น คือนักท่องเที่ยวรัสเซียเหล่านี้ไร้เงินในการกินอยู่ ธุรกรรมทางการเงินติดขัดไม่สามารถใช้บริการตู้กดเงินเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิตได้ แม้ทางการไทยจะเร่งประสานช่วยเหลือด้วยการยืดอายุวีซ่าแต่ปัจจัยสำคัญอย่างเงินสดคือปัญหาหลักที่กระทบไปถึงผู้ประกอบการไทยในขณะนั้นด้วย โดยแหล่งข่าวผู้จัดการร้านอาหารไทยใน จ.ภูเก็ต ระบุว่า มีลูกค้าชาวรัสเซียแน่นร้านทุกวัน แต่ปัญหาคือพวกเขาเหล่านี้ไม่สามารถทำธุรกรรมเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าอาหารได้

ในขณะที่เที่ยวบินระหว่างประเทศจากรัสเซียถูกระงับจากมาตรการคว่ำบาตร “ไทย” เป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เปิดบ้านต้อนรับ เว็บไซต์ “บิซิเนส อินไซเดอร์” (Business Insider) ระบุว่า รัสเซียได้พิจารณาเพิ่มเที่ยวบิน-ขยายเส้นทางมายังประเทศไทยมากขึ้น ที่ผ่านมา “ไทย” ยังคงรักษาจุดยืนที่เป็นกลางต่อความขัดแย้งดังกล่าว ไม่ได้มีส่วนร่วมในการห้ามหรือคว่ำบาตรชาวรัสเซียแต่อย่างใด ทั้งยังมีนโยบายที่ช่วยให้ชาวรัสเซียได้รับวีซ่าง่ายขึ้นอีกด้วย

สถานการณ์ของนักท่องเที่ยวรัสเซียสอดคล้องต้องกันกับตลาดท่องเที่ยวไทยที่ต้องการแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ระบุว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวของชาวรัสเซีย เอื้อต่อการเติบโตของสายป่านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากนักท่องเที่ยวเหล่านี้ไม่ได้เข้าพักโรงแรมเพียง 7 ถึง 10 คืน แต่มักจะอยู่ยาวโดยเฉลี่ยราว 3 เดือน ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กลายเป็นความหวังของผู้ประกอบการและคนทำงานท่องเที่ยวไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตามการมาถึงของนักท่องเที่ยวรัสเซียไม่เพียงจุดไฟความหวังให้เศรษฐกิจไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างมุมกลับที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังด้วย มีกรณีของชายชาวรัสเซียสองคนถูกจับกุมหลังจากพวกเขาชูป้ายขอความช่วยเหลือโดยมีข้อความระบุว่า “ช่วยด้วย! ฉันกำลังหนีจากสงครามในรัสเซีย เงินของฉันหมดแล้ว ฉันไม่ต้องการกลับไปสู่สงคราม คุณช่วยบริจาคให้ฉันได้ไหม? คุณมีอาหารให้ฉันหรือไม่?”

ปรากฏการณ์นี้สร้างความวิตกกังวลให้กับคนในพื้นที่ไม่น้อยเพราะมองว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่เหตุการณ์บานปลายอื่นๆ เพราะจำนวนชาวรัสเซียในพื้นที่ไม่ได้เป็นเพียงการมาเยือนแล้วจากไป แต่ยังขยับขยายเข้ามาลงทุน-สร้างอาณาจักรธุรกิจหนาแน่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เปิดปูมธุรกิจ ‘รัสเซียน โอนลี่’  เมื่อรัสเซียยึดงานคนไทยในคราบ ‘นักท่องเที่ยวภูเก็ต’

  • กว้านซื้ออสังหาฯ ขยับ “สร้างแลนด์มาร์ก” ในภูเก็ต

รายงานจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า 40% ของคอนโดมิเนียมทั้งหมดในภูเก็ตตกเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวรัสเซีย ขณะนี้สถานการณ์การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตค่อนข้างดุเดือด ยอดขายช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2565 และมกราคม 2566 มีมูลค่ารวมสูงมาก แหล่งข่าวฝ่ายขายคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งบอกว่า ยอดขายทั้ง 3 เดือนที่กล่าวมาสูงกว่ายอดขายตลอด 10 ปีก่อนหน้าด้วยซ้ำไป

แนวโน้มการเติบโตที่เกิดขึ้นมาจากความวิตกกังวลจากภาวะสงครามที่ยังไม่สงบดี ชาวรัสเซียจึงตัดสินใจเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า โดยก่อนหน้านี้นักลงทุนชาวรัสเซียมี “บัลแกเรีย” และ “เยอรมนี” เป็นตัวเลือกแรกๆ ทว่า หลังความขัดแย้งปะทุขึ้น “ยุโรป” จึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีอีกต่อไป นักลงทุนเริ่มขยับขยายมายังแถบตะวันออกกลาง ตุรกี และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

ข้อมูลจาก “Intermark Real Estate” บริษัทซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซียระบุว่า ปี 2565 มียอดการทำธุรกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากถึง 27% โดยนักลงทุนชาวรัสเซียปักหลักเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ใน “ภูเก็ต” และ “บาหลี” เป็นอันดับต้นๆ ความห่างไกลจากภัยความขัดแย้งในรัสเซียและยูเครนทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูมั่นคง ปลอดภัย และมีความเป็นกลางต่อสถานการณ์ดังกล่าวเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

  • “รัสเซียน โอนลี่” ธุรกิจโดยคนรัสเซียเพื่อคนรัสเซีย

นักท่องเที่ยวรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนสร้างแรงกดดันให้กับราคาอสังหาริมทรัพย์ จักรยานยนต์ และรถยนต์บนเกาะภูเก็ต โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐีชาวรัสเซียที่ได้รับ “Thailand Elite Visa” สามารถพำนักในประเทศได้นานสูงสุด 20 ปี หลายคนกว้านซื้อโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเซกเตอร์การท่องเที่ยวมาเป็นของตัวเอง จากเดิมที่ชาวรัสเซียอยู่ในสถานะ “นักท่องเที่ยว” มาตอนนี้ได้กลายเป็น “คู่ค้า” ที่ค่อนไปทาง “คู่แข่ง” ทั้งยังมีอำนาจต่อรองสูงกว่าเพราะถือครองทรัพยากรที่มีแต้มต่อสูง

เว็บไซต์ “เดอะสตาร์” (The Star) ระบุว่า “สเตฟาน ซิช” (Stefan Zich) ผู้จัดการโรงแรมนอกชายฝั่งภูเก็ตให้สัมภาษณ์ว่า ชาวรัสเซียในภูเก็ตขึ้นชื่อเรื่องพฤติกรรมไม่ดี มีเรื่องทะเลาะวิวาทและความรุนแรงจากความมึนเมา รวมทั้งอุบัติเหตุทางจราจรจากการขับขี่ก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งด้วย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลป่าตองยังให้ข้อมูลกับ “เดอะสตาร์” ว่า ชาวรัสเซียติดอันดับการถูกจับกุมในภูเก็ตฐานก่ออาชญากรรม โจรกรรม ไปจนถึงประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย รวมทั้งข้อหาที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดก็ด้วย 

ชาวรัสเซียไม่เพียงเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการแต่ยังประกอบอาชีพในท้องถิ่น-ขึ้นแท่นคู่แข่งคนในพื้นที่ ตั้งแต่ตำแหน่งมัคคุเทศก์ พนักงานขับรถ ไปจนถึงหมอนวดเพื่อบริการให้กับนักท่องเที่ยวรัสเซียโดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวเหล่านี้ใช้วิธีการต่ออายุวีซ่าท่องเที่ยวทุกๆ 30 วัน บวกกับความสามารถทางภาษาที่มีเป็นทุนเดิมในการหารายได้และประกอบอาชีพอย่างผิดกฎหมาย โดยมีภาวะสงครามที่ยังคุกรุ่นเป็นชนวนเหตุทำให้ชาวรัสเซียเหล่านี้แฝงตัวในคราวนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ชายชาวรัสเซียบางคนยอมรับว่า พวกเขาไม่อยากกลับบ้านอันเนื่องมาจากประกาศเกณฑ์ทหารฉบับใหม่ที่มีการขยายเพดานอายุ เสริมกำลังพลเตรียมพร้อมสำหรับภาวะสงครามที่ยังไม่สงบลงทุกเมื่อ 

ด้านสำนักข่าว “อัลจาซีรา” (Aljazeera) ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางมายังภูเก็ตแล้ว 400,000 คน เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับก่อนเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน “ประยุทธ์ ทองมุกสิก” ประธานชมรมผู้ขับรถตู้ภูเก็ตและตัวแทนผู้ประกอบการรถสองแถวในภูเก็ตให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ชาวรัสเซียนำรถที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมขนส่งเข้ามาประกอบกิจการรับนักท่องเที่ยวที่จองรถผ่านแอปพลิเคชันจากรัสเซียโดยตรง โดยใช้วิธีการ “ตัดราคา” ถูกกว่าผู้ประกอบการเดินรถในไทยราว 20%

เปิดปูมธุรกิจ ‘รัสเซียน โอนลี่’  เมื่อรัสเซียยึดงานคนไทยในคราบ ‘นักท่องเที่ยวภูเก็ต’

“ประยุทธ์” แสดงความกังวลว่า จากที่เคยคิดว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้ช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น อาจกลายเป็นว่า “เงินรูเบิล” ทั้งหมดจะตกเป็นของรัสเซียเสียเอง โดยในเพจเฟซบุ๊กท้องถิ่นมีโพสต์รวบรวมความกังวลที่เพิ่มขึ้นของคนในท้องถิ่นที่เกรงว่า งานของพวกเขาจะถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ และท้ายที่สุดคนไทยอาจกลายเป็นเจ้าของธุรกิจในฉากหน้าโดยมีนักลงทุนรัสเซียอยู่เบื้องหลัง

มื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ตำรวจภูเก็ตได้เข้าจับกุมชาวรัสเซีย 3 คนที่ประกอบอาชีพเปิดร้านตัดผมหลังจากทางการได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายทำงานที่สงวนไว้ให้คนไทยเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีรายงานเกี่ยวกับหญิงสาวในสถานบันเทิงยามค่ำคืนบนถนนบางลาพบว่า เป็นชาวรัสเซียที่มุ่งเน้นให้บริการลูกค้าชาวรัสเซียเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเจ้าหน้าที่ในจังหวัดจะยืนยันว่า กลุ่มชาวรัสเซียที่ทำผิดกฎหมายเป็นเพียงส่วนน้อยบนเกาะภูเก็ต แต่การขยายตัวอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับผู้ค้าท้องถิ่นไม่น้อยจนมีเสียงเรียกร้องไม่พอใจกับการมีอยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้เพิ่มขึ้น ถึงอย่างนั้นประเด็นดังกล่าวก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างเสียไม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจภูเก็ตพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า 80% การเข้ามาของชาวรัสเซียจึงมีความสำคัญต่อท้องถิ่นอย่างมาก

ขณะที่ฟากนักท่องเที่ยวจีนยังคงซบเซาและกำลังต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวภายในประเทศ ลูกค้ารายใหญ่ที่เข้ามาซื้อ “เรือยอชต์” มูลค่าหลายล้านดอลลาร์ก็คือกลุ่มชาวรัสเซียเหล่านี้ทั้งนั้น ทำให้หลังจากนี้ “ภูเก็ต” ตั้งเป้าดันนักท่องเที่ยวรัสเซียสู่กลุ่มเป้าหมายอันดับ 1 ในฐานะพื้นที่ปลอดภัยที่ชาวรัสเซียกำลังมองหา บวกกับนโยบายทางการทูตของไทยที่เปรียบดั่ง “ต้นไผ่ลู่ลม” ทำให้ไทยกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ  

“คนไทยเสียใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้แต่เราต้องการเงิน” ไกด์นำเที่ยวท่องถิ่นภูเก็ตให้ข้อมูลกับ “โตรอนโต สตาร์” (Toronto Star)

 

อ้างอิง: AljazeeraBangkokbiznewsBBCBBC ThaiBloombergNHKReutersSouth China Morning PostSkiftThe Daily BeastThe DiplomatThe GuardianThe Star