'การบินไทย' เปิดตัวยูนิฟอร์มใหม่ ชุดไทยจากขวดพลาสติก
“การบินไทย” เดินหน้าองค์กรยั่งยืน ปรับโฉมยูนิฟอร์มใหม่ เปิดตัวชุดไทยผลิตจากเส้นใยธรรมชาติและขวดพลาสติก 70% ดีเดย์ 1 ม.ค.นี้ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงสวมชุดไทยตลอดการทำงาน หวังสร้างเป็น Soft Power
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังงานแถลงข่าว From Purple to Purpose การปรับเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยระบุว่า การบินไทยดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)
โดยในช่วงที่ผ่านมาการบินไทยได้ดำเนินการเป้าหมายดังกล่าวผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มต่างๆ ทั้งในรูปแบบการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งล่าสุดยังได้ต่อยอดนำเอาวัสดุรีไซเคิลจากขวดน้ำพลาสติกบนเครื่องบินมาพัฒนาเป็นเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง
สำหรับเครื่องแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ การบินไทยจะทยอยปรับเปลี่ยนให้กับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงเริ่มในวันที่ 1 ม.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนเครื่องแบบใหม่แล้วเสร็จภายในกลางปี 2567 ทำให้ลูกเรือหญิงของการบินไทยที่มีจำนวนรวมประมาณ 2,100 คน จะถูกปรับเปลี่ยนมาใส่เครื่องแบบที่ผลิตจากเส้นใยไหมผสมเส้นใยขวดพลาสติกทั้งหมด
“เป้าหมายของการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบหญิงครั้งนี้ จุดประสงค์หลัก คือการเผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นไทย และรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากเราจะพัฒนาชุดเครื่องแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังมีนโยบายให้พนักงานต้อนรับต้องแต่งชุดไทยมาปฏิบัติภารกิจ จากเดิมที่ต้องสวมยูนิฟอร์มสีม่วงมาก่อน และเมื่ออยู่บนเครื่องจึงเปลี่ยนเป็นชุดไทย หลังจากนี้จะเหลือเพียงยูนิฟอร์มเดียว ซึ่งทำให้พนักงานสะดวกมากขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ดี การบินไทยยังคาดหวังว่าการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบจากวัสดุรีไซเคิล และมีนโยบายให้พนักงานใส่เครื่องแบบชุดไทยเพียงอย่างเดียวนั้น จะเป็นอีกหนึ่งส่วนช่วยในการสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยมีเส้นทางบินเฉลี่ย 120 เที่ยวบินต่อวัน และมีพนักงานหญิงบนเครื่องบินให้บริการครอบคลุมเส้นทางทั่วโลกเฉลี่ย 600 – 700 คนต่อวัน ดังนั้นหากพนักงานสวมชุดไทยไปให้บริการทุกที่จะทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น
สำหรับเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นที่การบินไทยพัฒนาขึ้นนั้น ผ้าไหมทอผลิตมาจากวัสดุเป็นส่วนผสมระหว่างเส้นใยไหม 30% และเส้นใยจากขวดน้ำพลาสติก 70% ซึ่งแตกต่างจากเครื่องแบบชุดไทยเดิมที่เป็นการตัดเย็บจากผ้าไหม 100% โดยผ้าไหมทอ 1 หลา ใช้ขวดน้ำพลาสติกประมาณ 18 ขวด และเครื่องแบบชุดไทย 1 ชุด ใช้ขวดน้ำประมาณ 54 ขวดในกระบวนการผลิต ดังนั้นนับได้ว่าเครื่องแบบชุดไทยที่การบินพัฒนาขึ้นนี้ เป็นส่วนสำคัญในการช่วยกำจัดขยะเหลือใช้จากการบินในทุกเที่ยวบิน
นายชาย ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากการพัฒนาต่อยอดที่จะกำจัดขยะเหลือใช้สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ การบินไทยยังเริ่มดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานด้วยการนำเครื่องบินและเครื่องยนต์สมัยใหม่ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมาใช้ในการให้บริการ
นอกจากนี้ยังปรับปรุงการปฏิบัติการบิน อาทิ การนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน รวมไปถึงปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) มาใช้ทำการบิน และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านอื่นๆ นอกเหนือจากกิจกรรมการบิน อาทิ กิจกรรมครัวการบิน กิจกรรมสายช่าง และกิจกรรมการบริการภาคพื้น