สอน.แจงเหตุผล ขึ้นราคาน้ำตาล ลดส่วนต่างราคาในประเทศ-ส่งออก

สอน.แจงเหตุผล ขึ้นราคาน้ำตาล ลดส่วนต่างราคาในประเทศ-ส่งออก

สอน.แจงเหตุผลการปรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 4 บาท มีผลวันที่ 28 ต.ค.66 เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้ประโยชน์จากราคาหน้าโรงงานที่ทยอยปรับขึ้นไปแล้ว ในการแบ่งปันผลผลิตของชาวไร่และโรงงานน้ำตาล ปีการผลิตปี 2566/2567

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สอน.ได้ออกประกาศ เรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567 ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.2566 ดังนี้

1.น้ำตาลทรายขาว จากกิโลกรัมละ 19 บาท เป็นกิโลกรัมละ 23 บาท

2.น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จากกิโลกรัมละ 20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 24 บาท

แหล่งข่าว กล่าวว่า การประกาศ ขึ้นราคาน้ำตาล สอน.จะนำมาใช้คำนวณราคาอ้อยสำหรับฤดูกาลผลิต ปี 2566/67 ซึ่งกำลังจะหีบอ้อยในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค.2556 จากเดิมที่คำนวณราคาที่ 19-20 บาท และหากไม่มีการประกาศขึ้นราคาเลยจะทำให้ชาวไร่เสียโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งจากส่วนต่างของราคาน้ำตาลตลาดโลกและในประเทศ

ขณะเดียวกันผู้ซื้อน้ำตาลเพื่อผลิตสินค้าในประเทศอาจไม่สามารถซื้อน้ำตาลได้หากไม่มีการปรับขึ้นราคา เนื่องจากผู้ขายต้องการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่ได้ราคาดีกว่า

 

“ชาวไร่-โรงงาน” ต้องการส่งออกน้ำตาลมากกว่า

ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงกว่าราคาน้ำตาลในไทย ซึ่งตามปกติของกลไกตลาดเสรี ผู้ขายจะเลือกส่งออกน้ำตาลไปต่างประเทศเพื่อให้ได้ราคาดีขึ้น รวมถึงชาวไร่เองก็อยากให้นำน้ำตาลไปขายตลาดต่างประเทศ เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล หากขายได้ราคาดีผลประโยชน์ก็จะกลับมาแบ่งกันทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงแบ่งส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสำหรับสนับสนุนการตัดอ้อยสดเพื่อลดการสร้างมลพิษ

ทั้งนี้ ในปีนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าปกติ อีกทั้งไทยได้ยกเลิกการกำหนดโควต้าน้ำตาลสำหรับขายภายในประเทศ ผู้ขายจึงมีสิทธิที่จะส่งออกได้อย่างเสรี และราคาน้ำตาลก็ไม่ใช่สินค้าควบคุม

 

ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นจูงใจส่งออก

นายบุญถิ่น โคตรศิริ กรรมการบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงงานน้ำตาลปรับสูงขึ้นมาจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือน ธ.ค.2566 อยู่ที่ 734.20 ดอลลาร์ ต่อ ตัน ซึ่งทำให้คำนวณราคาน้ำตาลส่งออกของไทยอยู่ที่กิโลกรัมละ 26-27 บาท จึงเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้โรงงานน้ำตาลเลือกที่จะส่งออกน้ำตาลแทนการขายในประเทศ

 

สอน.ยืนยันน้ำตาลในประเทศไม่ขาดแคลน

แหล่งข่าว จาก สอน.กล่าวว่า ในประเด็นความมั่นคงอาหาร ซึ่งเมื่อราคาน้ำตาลปรับเพิ่มขึ้นแล้วก็น่าจะไม่ทำให้เกิดน้ำตาลขาดแคลน ถึงแม้ว่าปัจจุบันไม่มีการแบ่งโควต้าสำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออกเหมือนในอดีต 

อย่างไรก็ตาม สอน.มีการกำหนดให้โรงงานน้ำตาลสำรองน้ำตาลไว้ประมาณ 1 เดือนเผื่อฉุกเฉิน หรือ 2 ล้านกระสอบ กระสอบละ 100 กิโลกรัม ในช่วงรอยต่อของฤดูกาลหีบอ้อย ช่วงเดือน ธ.ค.2566 ที่เพิ่งเริ่มมีน้ำตาลฤดูกาลใหม่ออกมา 

ทั้งนี้ ไทยมีการผลิตน้ำตาลราว 10 ล้านตันต่อปี โดยมีสัดส่วนการส่งออก 70-75% โดยส่วนที่เหลือเป็นการบริโภคในประเทศ 2.5-2.6 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิต 40-50% ขณะที่เหลือเป็นน้ำตาลที่ขายในห้างสรรพสินค้า