เอาจริง! ‘สุรพงษ์’ ขีดเส้นตรวจการบ้าน 10 พ.ย.นี้ สั่งทุกหน่วยรายงานผล
‘สุรพงษ์’ ขีดเส้นตรวจการบ้าน 10 พ.ย.นี้ สั่งทุกหน่วยงานในกำกับรายงานผลปฏิบัติงานตามนโยบายที่มอบหมาย เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณตามเป้า
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือสั่งการให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก, กรมการขนส่งทางราง, บริษัท ขนส่ง จำกัด, การรถไฟแห่งประเทศไทย, บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด, บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ให้เร่งรัดจัดทำข้อมูล กรอบระยะเวลา รวมถึงแผนงานตามนโยบายที่ได้มอบหมายให้แล้วเสร็จ และส่งรายงานความคืบหน้ามาให้รัฐมนตรีรับทราบ ภายในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566
แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การออกคำสั่งเร่งรัดในครั้งนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหา และอุปสรรค หลังจากที่แต่ละหน่วยงานได้นำเสนอข้อมูลในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่นายสุรพงษ์ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายให้กับหน่วยงานในกำกับดูแลทั้ง 8 หน่วยงาน อาทิ แผนแก้ปัญหาหนี้สินและการเพิ่มรายได้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
รวมไปถึงการเร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่, การเร่งรัดการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มของ รฟม. ฝั่งตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม- บางขุนนนท์) ที่ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อได้เพราะติดขัดปัญหาข้อกฎหมาย ทั้งมีการร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือก ซึ่งมีหน่วยงานตรวจสอบ กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ ส่งผลให้โครงการนี้ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดมาก โดยทุกเรื่องที่เร่งรัดไป หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมีคำตอบ เหตุผล และแนวทางทำงานที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ และประชาชนตามนโยบายรัฐบาล
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยฯ ยังได้มีนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 โดยสั่งการให้ทุกหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80-90% พร้อมทั้งนำนโยบายของรัฐบาลมาใช้เป็นหลักในการปฏิบัติงาน อาทิ สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก นำระบบดิจิทัลมาใช้ในงานบริการด้านขนส่ง เพื่อความสะดวกในการติดต่อราชการ และลดขั้นตอนในการเดินทางมายังสถานที่ราชการ รวมทั้งให้แก้ปัญหาการให้บริการของรถที่เรียกผ่านแอพพลิเคชัน และรถในระบบให้มีความสมดุลกัน
นอกจากนี้ สั่งการให้ บวท.เตรียมความพร้อมบริหารจัดการจราจรทางอากาศ เพื่อรองรับเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายวีซ่าฟรีของรัฐบาล และสั่งการให้ ร.ฟ.ท. เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพราะจากข้อมูลพบว่า ที่ดินภายใต้การบริหารของ ร.ฟ.ท. ประเมินแล้วมีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบัน ร.ฟ.ท. สามารถนำไปหารายได้ได้เพียงแค่ 3 พันล้านบาท หรือประมาณ 1% เท่านั้น