การบินไทยรุกตลาด ‘อินเดีย’ รับวีซ่าฟรี
หลังรัฐบาลประกาศฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวอินเดีย และไต้หวัน เริ่มตั้งแต่ 10 พ.ย.2566 จนถึง 10 พ.ค.2567 การบินไทยมั่นใจว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะปัจจุนตลาดอินเดียนับเป็นตลาดหลักที่มีปริมาณการเดินทางสูงอยู่ใน 5 อันดับแรก
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย ชาย เอี่ยมศิริ ระบุ หลังรัฐบาลประกาศวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวอินเดีย และไต้หวัน โดยสามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทยได้ 30 วัน เริ่มตั้งแต่ 10 พ.ย.2566 จนถึง 10 พ.ค.2567 การบินไทยมั่นใจว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะปัจจุนตลาดอินเดียนับเป็นตลาดหลักที่มีปริมาณการเดินทางสูงอยู่ใน 5 อันดับแรก และยังพบว่ามีดีมานด์ความต้องการเดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสิ้นปีที่เป็นฤดูการท่องเที่ยว หรือ ไฮซีซัน ตรงกับช่วงที่คนอินเดียนิยมจัดงานแต่งงานและนิยมเดินทางท่องเที่ยว
อินเดียเป็นตลาดที่โตไวมากกว่าจีน เพราะดีมานด์การเดินทางตลาดนี้มีสูง และยังขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งการประกาศนโยบายวีซ่าฟรีก็ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวและจองการเดินทางง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อช่วงไฮซีซันทันที เพราะเป็นช่วงที่อินเดียมักนิยมเดินทางจัดงานแต่งงาน จึงคาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาส 4 นี้ รูทอินเดียจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีเฉลี่ยราว 75% แต่จะเพิ่มมากน้อยนั้นต้องรอดูบุ๊กกิ้งล่วงหน้าก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณชัด เนื่องจากฟรีวีซ่าเพิ่งประกาศ
ปัจจุบันการบินไทยทำการบินครอบคลุม 7 เส้นทางในอินเดีย ไป-กลับ อาห์เมดาบัด มุมไบ เดลี เบงกาลูรู ไฮเดอราบัด เจนไน กัลกัตตา โดยในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ยังเตรียมเปิดทำการบินเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-คยา รวมทั้งยังอยู่ระหว่างศึกษาเปิดเส้นทางบินใหม่อีก 2 จุดบิน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
การบินไทยยังมีแผนจะนำเครื่องบินลำตัวกว้าง อาทิ แอร์บัส A330 และโบอิ้ง 777-200 ER ไปทำการบินในเส้นทางต่างๆ ของอินเดียที่มีปริมาณการเดินทางสูง เนื่องจากปัจจุบันยังใช้เครื่องบินลำตัวแคบ รุ่นแอร์บัส A320 ทำการบินอยู่ เพราะเดิมหลายเส้นทางในอินเดีย จะทำการบินโดยสายการบินไทยสมายล์ แต่ขณะนี้การบินไทยได้รับโอนเส้นทางดังกล่าวกลับมาทำการบินแล้ว ดังนั้นหากมีดีมานด์การเดินทางเพิ่ม การบินไทยได้เตรียมความพร้อมนำเครื่องบินลำตัวกว้างไปรองรับความต้องการแล้ว
สำหรับสถานการณ์ตลาดจีน ปัจจุบันพบว่ายังไม่ฟื้นตัวกลับมาปกติ ซึ่งเชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยภายในของจีนทั้งในด้านเศรษฐกิจ ส่วนนโยบายฟรีวีซ่าให้แก่ไต้หวัน การบินไทยประเมินว่าจะส่งผลบวกในช่วงไฮซีซัน ทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ยังอยู่ในช่วงประเมินยอดบุ๊กกิ้ง
ดีเดย์ 1 ธ.ค. เปิดบินตรง ‘อิสตันบูล’
การบินไทยอยู่ในช่วงเร่งขยายเส้นทางบินเพื่อรองรับดีมานด์การเดินทางของผู้โดยสารที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองว่าการขยายฐานลูกค้าผ่านพันธมิตรสายการบิน เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สร้างโอกาส ล่าสุดการบินไทยได้ทำความร่วมมือกับเตอร์กิชแอร์ไลน์ส เชื่อมต่อการเดินทางจากไทยและตุรกี รวมทั้งจุดหมายปลายทางอื่นๆ โดยเฉพาะทวีปยุโรปและแอฟริกา ผ่านการใช้ตุรกีเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) ในการเชื่อมต่อเส้นทางบินต่างๆ ซึ่งการบินไทยเคยเปิดบินกรุงเทพฯ - อิสตันบูล ในปี 2537 และหยุดทำการบินไปเมื่อ 26 ต.ค. 2540 การกลับมาเปิดบินครั้งนี้ ถือเป็นการฟื้นเส้นทางบินในรอบ 26 ปี และคาดว่าภายใต้ความร่วมมือนี้จะเริ่มเห็นการทำโค้ดแชร์ร่วมกันได้มากขึ้น ทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อจุดบินต่างๆ
ปัจจุบันได้เปิดให้จองการเดินทางล่วงหน้าในเส้นทางกรุงเทพฯ - อิสตันบูลแล้ว พบว่ามียอดจองล่วงหน้า (บุ๊กกิ้ง) สูงเฉลี่ย 60% และคาดว่าหลังเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า 6 เดือนหลังจากนี้การบินไทยจะสามารถทำอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) ในเส้นทางนี้ตามเป้าหมายเฉลี่ย 70-75% เพราะนอกจากอิสตันบูลจะเป็นฮับเชื่อมต่อการเดินทางแล้ว ยังเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งคนไทยสามารถเดินทางไปโดยไม่ต้องทำวีซ่า
สำหรับเส้นทาง กรุงเทพฯ-อิสตันบูล การบินไทยจะให้บริการเที่ยวบินไป - กลับ โดยทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ให้บริการด้วยเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A 350 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยมีตารางบินที่สะดวกสบาย ประกอบด้วย เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อิสตันบูล ทำการบินทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน
- เที่ยวบินที่ TG900 ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เวลา 23.45 น. เดินทางถึงอิสตันบูล เวลา 06.05 น. ของวันถัดไป (เวลาท้องถิ่น)
- เที่ยวบินที่ TG901 ออกเดินทางจากอิสตันบูล เวลา 16.30 น. (เวลาท้องถิ่น) เดินทางถึงกรุงเทพฯ เวลา 05.35 น. ของวันถัดไป
ทั้งนี้ การเปิดเส้นทางบินใหม่ของการบินไทยสู่อิสตันบูล นอกจากจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทฯ อาทิ เพิ่มทางเลือกใหม่ในการเดินทาง การเชื่อมต่อเที่ยวบินและการขนส่งสินค้าแล้ว ยังยกระดับการเป็นสายการบินที่มีเครือข่ายเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและออสเตรเลีย สนับสนุนนโยบายภาครัฐในการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับสาธารณรัฐตุรกีและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยุโรปตะวันออก ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งการกระจายฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากประเทศตุรกีเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 85.3 ล้านคน และมีขนาดมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 906 พันล้านดอลลาร์
ความร่วมมือระหว่างการบินไทยและเตอร์กิชแอร์ไลน์ส จะสร้างโอกาสให้การบินไทยสามารถขยายฐานลูกค้าในตลาดยุโรปและแอฟริกา เชื่อมต่อการเดินทางในเส้นทางบินที่การบินไทยยังไม่เปิดให้บริการ อาทิ โรม มาดริด ฮังการี และปราก เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสเดินทางสูง เช่น ข้าราชการ นักธุรกิจ รวมไปถึงนักเรียน และนักศึกษา นอกจากนี้กลุ่มนักท่องเที่ยวก็มีโอกาสขยายตัวสูง เพราะการท่องเที่ยวในอิสตันบูลคนไทยไม่ต้องใช้วีซ่า อีกทั้งจุดบินนี้ยังทำให้เดินทางไปยังยุโรปสะดวกขึ้น เพราะใช้เวลาบินไปยังอิสตันบูล 9 ชั่วโมง หลังจากนั้นต่อไปเมืองต่างๆ ในยุโรปอีก 3 ชั่วโมงเท่านั้น