‘ศก.ดิจิทัลอาเซียน’ รุ่ง จ่อทำ ‘นิวไฮ 10 ล้านล้านบาท’
เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำกำไรเป็นประวัติการณ์ จ่อทำรายได้ ‘นิวไฮ 10 ล้านล้านบาท’ และขณะนี้ธุรกิจหันไปมุ่งเน้นสร้างรายได้เพื่อให้ธุรกิจมีความมั่นคงมากขึ้น
กูเกิล เทมาเส็ก และเบนแอนด์คอมปานี เปิดเผยรายงานใหม่ ระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจมีมูลค่าการทำธุรกรรมทั้งหมดแตะระดับ 218,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ (ประมาณ 10.08 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11% แม้เผชิญอุปสรรคทางเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลกก็ตาม
รายงาน e-Conomy SEA 2023 เผยว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฝ่าฟันความท้าทายทางเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลกได้ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจมากขึ้น เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 หลังจากที่เคยตกต่ำไปในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
รายงานคาดการณ์ว่า รายได้เศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.6 ล้านล้าน) ในปีนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่ามูลค่าการทำธุรกรรม 1.7 เท่า เนื่องจากหลายธุรกิจกำลังปรับโฟกัสใหม่จากการเติบโตมาเป็น “การทำกำไร” เพื่อให้ธุรกิจมีความมั่นคงมากขึ้น
“ฟ็อก หวาย ฮุง” หัวหน้าฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเทมาเส็ก เผยผ่านรายการสตรีท ไซน์ส เอเชีย ของซีเอ็นบีซีเมื่อวันพุธ (1 พ.ย.) ว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำกำไรเป็นประวัติการณ์ ขณะนี้ธุรกิจหันไปมุ่งเน้นสร้างรายได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อโครงสร้างธุรกิจเป็นอย่างมาก”
ทั้งนี้รายงานประจำปีดังกล่าว วิเคราะห์ภาคธุรกิจสำคัญ 5 ประเภทของเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ อีคอมเมิร์ซ, การท่องเที่ยว, การขนส่งและส่งอาหาร รวมถึงบริการสื่อออนไลน์และการเงินดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมเศรษฐกิจดิจิทัลของเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 6 แห่ง ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม ซึ่งไม่ได้รวมบรูไน, กัมพูชา, ลาว, เมียนมา ติมอร์ตะวันออกและปาปัวนิวกินี
“สัปนา ชาธา” รองประธานฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกูเกิล ระบุในรายงานว่า “การให้ความสำคัญกับช่องว่างของการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัล และการขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายแห่งสามารถกลายเป็นผู้ใช้สินค้าและบริการดิจิทัลนั้น จะช่วยให้ภูมิภาคปลดล็อกการเติบโตของเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลได้”
- ธุรกิจออนไลน์กำลังรุ่ง
ธุรกิจออนไลน์กำลังเปลี่ยนแปลงจากการใช้ต้นทุนจำนวนมากเพื่อดึงดูดลูกค้า เป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกค้าปัจจุบันให้มากขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการทำกำไร
ฟ็อก บอกว่า
“ตอนนี้บริษัทและผู้ประกอบการหลายแห่งตระหนักแล้วว่า วิธีการเติบโตที่ดีที่สุดต้องไม่ใช่การเติบโตที่แลกมาด้วยทุกอย่าง และขยายความคิดในระยะเริ่มต้นนี้ออกไปในระดับหนึ่ง แต่ต้องทำการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่สุดผ่านระยะเริ่มต้น ระยะเติบโต เพื่อมุ่งสู่การเงินที่ยั่งยืนมากขึ้น”
ปัจจุบันแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเน้นให้ความสำคัญกับมูลค่าการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน เพิ่มขนาดการทำธุรกรรม และพยายามเพิ่มแหล่งรายได้ เช่น การโฆษณาและบริการดิลิเวอรี เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว
รายงานเผยว่า มูลค่าการทำธุรกรรมโดยรวมของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้อาจแตะ 186,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 6.48 ล้านล้านบาท) ในปี 2568 จากเดิม 139,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 (ประมาณ 5 ล้านล้านบาท) โดยเมื่อธุรกิจขนาดเล็กและกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการของธนาคารได้เข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว จึงทำให้ดีมานด์ของผู้บริโภคช่วยขับเคลื่อนสินเชื่อเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมด้วย ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากบริการทางการเงินดิจิทัลที่มีมูลค่ามากถึง 30,000 ล้านดอลลาร์ (1.08 ล้านล้านบาท) และสิงคโปร์อาจกลายเป็นตลาดสินเชื่อดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคภายในปี 2573
ด้วยอานิสงส์จากเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ภาคอุตสาหกรรมขนส่งและยอดจองท่องเที่ยวทางออนไลน์เริ่มทะยานเพิ่มขึ้นถึงระดับก่อนเกิดโควิด-19 ภายในปี 2567 และแม้การทานอาหารนอกบ้านเริ่มฟื้นตัวและโปรโมชันต่าง ๆ เริ่มลดลง แต่รายได้บริการดิลิเวอรีของธุรกิจอาหาร ที่เคยร่วงต่ำกว่ารายได้ภาคการขนส่ง อาจแตะ 800 ล้านดอลลาร์ (2.88 หมื่นล้านบาท) ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 60%
เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยก็มีความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญ โดยยอดจองท่องเที่ยวทางออนไลน์เป็นภาคอุตสหากรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2566 เติบโต 85% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี
- เงินรอลงทุนเหลืออื้อ
อุปสรรคจากเศรษฐกิจมหภาค เช่น เงินเฟ้อและต้นทุนของเงินทุนที่สูง กระทบการใช้เงินลงทุนของภาคเอกชนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี แม้นักลงทุนเริ่มพิจารณาลงทุนมากขึ้น แต่ภาวะ dry powder หรือเงินที่รอการลงทุน กลับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 15,700 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2565 โดยเพิ่มขึ้น 12,400 ล้านดอลลาร์จากปี 2564
รายงานแนะว่า การจะดึงดูดเงินทุนในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันนั้น เหล่าบริษัทดิจิทัลต้องแสดงให้นักลงทุนเห็นว่าธุรกิจมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน และมีความเป็นไปได้ในการทำกำไร
ทั้งนี้ บริการทางการเงินดิจิทัลยังคงเป็นอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ในภูมิภาค ที่นักลงทุนสนใจลงทุน เนื่องจากมีศักยภาพในการสร้างรายได้สูง
นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่งเกิดใหม่ในภูมิภาค เช่น เทคโนโลยีด้านสุขภาพ เทคโนโลยีการศึกษา และยานยนต์ ซึ่งมีการทำดีลข้อตกลงต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ยังบ่งชี้ด้วยว่า นักลงทุนในภูมิภาคนี้กระจายพอร์ตการลงทุนหลากหลายมากขึ้น
อ้างอิง:CNBC