สานฝันไทย ‘ฮับEV’ ภูมิภาค ทำไมยังต้องส่งเสริม ‘รถสันดาป’?

สานฝันไทย ‘ฮับEV’ ภูมิภาค ทำไมยังต้องส่งเสริม ‘รถสันดาป’?

เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ไม่น้อยสำหรับการประกาศนโยบายของ“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังที่ให้ไทยเป็น “ฐานผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปแห่งสุดท้ายของโลก"

พร้อมทั้งสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปทำมาตรการส่งเสริมเพื่อจะดึงค่ายรถยนต์โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ยังปรับตัวไปสู่การผลิตรถไฟฟ้า (EV) ไม่ทันให้เพิ่มการลงทุนผลิตรถยนต์ในไทย

นายกฯพูดด้วยว่าไทยเราไม่ลืมบุญคุณของญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยมายาวนาน และระหว่างการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในช่วงเดือน ธ.ค.นี้เตรียมจะประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถที่ใช้น้ำมัน (เครื่องยนต์สันดาปภายใน)

แน่นอนว่าการประกาศเรื่องนี้ของนายกฯสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ติดตามนโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยอยู่ไม่น้อย เนื่องจากก่อนหน้านี้นโยบายของประเทศไทยมุ่งไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากรถใช้น้ำมันไปสู่รถ EV ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกซึ่งมุ่งไปสู่การใช้รถที่ลดการปล่อยคาร์บอน และการใช้เชื้อเพลิงสะอาด

สานฝันไทย ‘ฮับEV’ ภูมิภาค ทำไมยังต้องส่งเสริม ‘รถสันดาป’?

ในรัฐบาลที่ผ่านมาได้คลอดมาตรการ“EV 3.0”และกำหนดเป้าหมาย30@30 ที่ตั้งเป้าให้มีการผลิตรถ EV ภายในประเทศให้ได้ 30% ของการผลิตรถทั้งหมดในประเทศภายในปี 2030 หรือคิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศประมาณ 7.25 แสนคัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 6.75 แสนคัน

ผลของมาตรการ EV3.0 ที่ผ่านมาทำให้ประเทศไทยมีบริษัท EV เข้ามาลงทุนในประเทศไทยถึง 13 บริษัท มียอดจดทะเบียนรถ EV ใหม่ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ กว่า 50,340 คัน เพิ่มขึ้นถึง 7.6 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ถือว่าเป็นตลาดรถ EV ที่เติบโตได้เร็วมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ในรัฐบาลปัจจุบันนายกฯมานั่งเป็นประธานบอร์ดอีวีแห่งชาติด้วยตัวเองในการประชุมนัดแรกได้คลอด “มาตรการ EV 3.5” ออกมา แม้จะให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องของเงินอุดหนุนผู้ซื้อรถ EV ลดลง แต่ก็ยังเพียงพอที่ประเทศไทยจะสามารถวาดฝัน และตั้งเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคได้

การประกาศส่งเสริมรถยนต์ใช้น้ำมันให้มาขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม เพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้ไปอีก 10 -15 ปี จึงมีคำถามตามมาว่า ในทางนโยบายนายกรัฐมนตรีนั้นมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร

 

แม้ว่าในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีซัพพายเชนของรถยนต์สันดาปเป็นจำนวนมาก การที่ยังคงการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ไว้ก็จะช่วยผู้ประกอบการ และแรงงานได้ หากแต่การออกมาตรการส่งเสริมให้มีการลงทุนเพิ่มเติมอาจจะไม่เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งตลาด และมาตรฐานของรถยนต์ส่วนใหญ่ที่มุ่งไปทาง EV มากกว่ารถยนต์แบบเดิม

มาตรการที่จะส่งเสริมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปที่จะออกมาควรเป็นมาตรกรสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนผ่าน และปรับตัวไปสู่รถ EV ที่เป็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตมากกว่าที่จะไปช่วยผู้ประกอบการบางรายในการรักษาฐานการผลิต และตลาดรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเอาไว้ รัฐบาลควรออกมาตรการที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตรถสันดาปในประเทศไทยได้ปรับตัวไปสู่การผลิตรถ EV ได้อย่างรวดเร็วขึ้น

..ซึ่งจะช่วยให้เป้าหมายการเป็น ‘ฮับ EV’ ภูมิภาคของไทยเป็นจริงได้โดยไม่ได้เป็นแค่ความฝันเท่านั้น