'แลนด์บริดจ์' เนื้อหอม WHA-กนอ.ลุยศึกษาตั้งนิคมฯ 'ระนอง-ชุมพร'
ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม สนใจเมกะโปรเจ็กต์ “แลนด์บริดจ์” ซึ่งจะเป็นพื้นที่ใหม่ที่รองรับการลงทุนในอนาคต โดยทำให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมสนใจที่่จะศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในที่ระนอง-ชุมพร เพื่อรองรับพื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่าเรือ
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 เห็นชอบให้มีการรับฟังความเห็นโครงการแลนด์บริดจ์ โดยกระทรวงคมนาคมได้กำหนดรูปแบบการพัฒนา 3 ส่วน ดังนี้
1.ท่าเรือน้ำลึก ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยในฝั่งอ่าวไทยตั้งอยู่ที่แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนองรองรับสินค้า 20 ล้าน TEU มีร่องน้ำลึก 21 เมตร
ส่วนฝั่งอันดามันตั้งอยู่ที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร รองรับสินค้า 20 ล้าน TEU มีร่องน้ำลึก 17 เมตร
2.การเชื่อมการขนส่งระหว่างท่าเรือ ประกอบด้วยมอเตอร์เวย์ 6 ช่องจราจร ระยะทาง21 กิโลเมตร ,รถไฟคู่ ขนาดราง 1.435 เมตร และรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร
3.ท่อขนส่งน้ำมัน สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ
การที่รัฐบาลผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่ทำให้บริษัทเอกชนไทยและต่างชาติเริ่มให้ความสนใจติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด
รวมถึงผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม เพราะจะมีการพัฒนาพื้นที่หลังท่าสำหรับการลงทุนอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลได้เตรียมการโรดโชว์ต่างประเทศ เพื่อดึงบริษัทต่างชาติมาร่วมลงทุนในรูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)
สำหรับการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์จะเชื่อมเส้นทางขนส่งกับท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งจะเป็นการเชื่อมการพัฒนาเชิงพื้นที่ 2 ส่วน คือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)
ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนที่จะผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์อย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมา “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้โรดโชว์ระหว่างการเยือนต่างประเทศ เช่น จีน ซาอุดิอาระเบีย
รวมทั้งล่าสุดในการเดินทางเยือนสหรัฐเป็นครั้งที่ 2 ของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 12-18 พ.ย.2566 จะนำโครงการแลนด์บริดจ์ ไปนำเสนอบนเวทีการประชุมผู้นำ APEC
จรีพร จารุกรสกุลประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า WHA ได้เริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์แล้ว เนื่องจากมองว่าพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางผ่านของการขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่จะเป็นพื้นที่ศักยภาพ
ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นโอกาสทองของภาคอุตสาหกรรมในการตั้งฐานผลิตด้วยแต้มต่อด้านโลจิสติกส์ของการเชื่อมโยงเส้นทางจากสองฝั่งมหาสมุทร เป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่ทำให้สามารถเป็นศูนย์รับถ่ายสินค้า รวมถึงวัตถุดิบนำเข้ามาผลิตและส่งออกไปได้ทั้งสองทางจากอันดามันและอ่าวไทย
“ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติก็ให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เยอะ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ย้ำชัดว่าไทยจะเดินหน้าเรื่องนี้่ คาดว่าใน 2 ปีข้างหน้าจะเริ่มเห็นการเปิดประมูลลงทุน” นางสาวจรีพร กล่าว
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมผลักดันการดำเนินการโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจในการเป็นประตูโลจิสติกส์เชื่อมโยงการค้าของประเทศและภูมิภาค
รวมทั้งได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาแนวทางในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย
1.ระนอง
2.ชุมพร
3.นครศรีธรรมราช
4.สุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายเตรียมความพร้อมพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนจากการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะทำให้บริเวณ SEC กลายเป็นศูนย์กลางในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั่วโลก และเตรียมความพร้อมในการเป็นฐานการลงทุนของ 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย
1.เกษตรและอาหาร
2.ชีวภาพ
3.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
“ขณะเดียวกัยรัฐบาลจะต้องเร่งผลักดัน ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่เทียบเคียงกับพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่ออำนวยความสะดวกและง่ายต่อการควบคุม กำกับดูแล รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ในการดึงนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ไม่ใช่เพียงแค่ทางผ่านของการขนส่งสินค้า”
วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.อยู่ระหว่างการตั้งโครงการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โดยต่อยอดจากผลการศึกษาในอดีตที่เคยทำไว้เมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดระนองเป็นพื้นที่อนุรักษ์ อาทิ ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ ป่าโกงกาง รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน เพราะฉะนั้นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจึงอาจมีอุปสรรคพอสมควร
ทั้งนี้ การผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมที่ดิน รวมถึงกรมโยธาทิการและผังเมือง ว่าจะมีแนวทางในการจัดสรรพื้นที่เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสมได้อย่างไร
นอกจากนี้ ในเบื้องต้น กนอ.เตรียมลงพื้นที่เดือน พ.ย.2566 เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดระนอง 1 แห่ง รวมถึงในจังหวัดชุมพรอีก 1 แห่ง
“ตอนนี้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมต่างให้ความสนใจและเริ่มศึกษาสำรวจพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากเห็นโอกาสในการเติบโตจากโครงการดังกล่าวซึ่งจะเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ของไทยที่จะมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท”