'ส่งออก - ท่องเที่ยว' ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

'ส่งออก - ท่องเที่ยว' ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนต.ค.66 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 ต.ค.66) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 76.87 ปรับลง 31.5%

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนต.ค.66 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 ต.ค.66) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 76.87 ปรับลง 31.5% จากเดือนก่อนหน้าลงมาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา”

นักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือ คาดหวังการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส รองลงมาคือ การไหลออกของเงินทุน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” (ช่วงค่าดัชนี 40-79) ปรับลดลง 31.5% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 76.87

ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล และกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบัน และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดพลังงาน และสาธารณูปโภค (ENERG)

หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP)

ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส

 

 

 

ผลสำรวจ ณ เดือนตุลาคม 2566 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลง โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 45.3% อยู่ที่ระดับ 65.63% กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 34.0% อยู่ที่ระดับ 73.33 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 31.6% อยู่ที่ระดับ 100.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับลด 16.7% อยู่ที่ระดับ 83.33

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า SET Index ยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนต.ค.66 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ทั่วโลก  จากความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาสที่ยังคงตึงเครียด และจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 5%

SET Index ณ สิ้นเดือนต.ค.66 หลุดกรอบ 1,400 จุดมาปิดที่ 1,381.83 ปรับตัวลดลง 6.1% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,213 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องกว่า 15,649 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 66 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวมกว่า 171,021 ล้านบาท

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทอง และน้ำมัน นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงอีกระยะหนึ่งหลังภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐ ยังแข็งแกร่ง อีกทั้ง ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดทุนของรัฐบาลจีน

ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/66 ความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นค่าใช้จ่ายของรัฐบาลทั้งมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และโครงการ digital wallet 10,000 บาท ที่อาจล่าช้าไปถึงก.ย.67 ซึ่งจะส่งผลต่อประมาณการ GDP ในปีหน้า อัตราหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 90.7% และหนี้สาธารณะที่สูงมากในระดับ 61.7% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่น่าจับตามองจากแนวโน้มการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี หลังรัฐบาลประกาศเพิ่มฟรีวีซ่าให้แก่รัสเซีย อินเดีย และไต้หวัน หลังประกาศฟรีวีซ่าจีน และคาซัคสถานเมื่อเดือนก่อน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์