ราคาน้ำมันดิบ เวสต์เท็กซัส ร่วงกว่า 2 ดอลล์ หลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่ง

ราคาน้ำมันดิบ เวสต์เท็กซัส ร่วงกว่า 2 ดอลล์ หลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่ง

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปิดวันพุธ (8พ.ย.)ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง หลังสหรัฐเปิดเผยว่าสต็อกน้ำมันดิบพุ่งขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่ลดลงในตลาด

นอกจากนี้ ราคาน้ำมัน ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งจะลดความน่าดึงดูดของสัญญา โดยทำให้สัญญาน้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 2.04 ดอลลาร์ ปิดที่ 75.33 ดอลลาร์/บาร์เรล ด้านเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 2.07 ดอลลาร์ ปิดที่ 79.54 ดอลลาร์/บาร์เรล ทั้ง 2 สัญญาต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.

สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐ พุ่งขึ้นเกือบ 12 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 300,000 บาร์เรล

ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) แถลงว่า EIA จะเลื่อนการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสต็อกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสัปดาห์นี้ เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบ และจะมีการรายงานตามปกติในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ EIA จะไม่มีการรายงานสต็อกน้ำมันปิโตรเลียมประจำสัปดาห์ (WPSR) ในวันนี้ และจะไม่มีการรายงานสต็อกก๊าซธรรมชาติประจำสัปดาห์ (WNGSR) ในวันพรุ่งนี้

อย่างไรก็ดี EIA จะยังคงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสต็อกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และจะมีการเปิดเผยรายงาน WPSR และ WNGSR ตามปกติในวันที่ 15 พ.ย.และ 16 พ.ย.ตามลำดับ โดยจะประกอบด้วยข้อมูลของสต็อกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นเวลา 2 สัปดาห์

EIA ประกาศปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ในปี 2567 สู่ระดับ 89.24 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยลดลง 1.8% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนต.ค.

นอกจากนี้ EIA ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 2567 สู่ระดับ 93.24 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 1.8% เช่นกัน จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนต.ค.

ขณะเดียวกัน EIA คาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐจะลดลง 1% ในปี 2567 ซึ่งจะทำให้การบริโภคน้ำมันเบนซินต่อหัวของชาวอเมริกันต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยมีสาเหตุจากการที่ประชาชนทำงานจากที่บ้านมากขึ้น, การที่รถยนต์มีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น และการที่อุปสงค์น้ำมันลดลงจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น

ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการที่นักลงทุนกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน

จีนเปิดเผยว่า ยอดส่งออกดิ่งลง 6.4% สู่ระดับ 2.748 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนต.ค. ซึ่งย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 3.3% และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 โดยได้รับผลกระทบจากอุปสงค์สินค้าและบริการของจีนที่อ่อนแอในตลาดโลก

นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่า โรงกลั่นน้ำมันของจีนจะลดปริมาณการกลั่นน้ำมันดิบในช่วงเดือนพ.ย.และธ.ค. ซึ่งจะเป็นปัจจัยจำกัดอุปสงค์น้ำมันในประเทศ