ขึ้นเงินเดือนขรก.ใช้งบฯเพิ่มแสนล้าน ‘รัฐบาล’ เล็งขึ้นเฉพาะรายได้น้อยก่อน
ประชุม 4 หน่วยงานศึกษาขึ้นเงินเดือนข้าราชการนัดแรก 10 พ.ย.นี้ เผยแนวคิดรัฐบาลขยับขึ้นเงินเดือนแบบเป็นขั้นตอนเป้าหมายป.ตรีสตาร์ทเงินเดือน 2.5 หมื่นบาท รับขึ้นทั้งระบบต้องใช้เงินเพิ่มกว่าแสนล้าน จ่อขยับขึ้นเฉพาะเงินเดือนน้อยก่อน สร้างความเท่าเทียมในการใช้จ่าย
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าวันพรุ่งนี้ (10 พ.ย.) จะมีการประชุมร่วม 4 หน่วยงาน เพื่อพิจารณาการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างของรัฐ ตามคำสั่งของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้มีการศึกษาความเป็นไปได้และรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน พ.ย.นี้ โดยการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล มีปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน และมี 4 หน่วยงานเข้าร่วมประชุมได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เข้าร่วมประชุม
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เป็นไปตามนโยบายการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่มีการหาเสียงว่าจะปรับขึ้นเงินเดือนของเด็กจบใหม่ปริญญาตรีเริ่มต้น 25,000 บาทต่อเดือนภายใน 4 ปีของรัฐบาล หรือว่าให้สามารถทำได้จริงตามเป้าหมายภายในปี 2570
อย่างไรก็ตามในการหารือกันของรัฐบาลยอมรับว่าหากมีการขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ ทั้งข้าราชการประจำ ลูกจ้างของรัฐ ข้าราชการทหาร ตำรวจ รวมทั้งข้าราชการเกษียณที่รับเงินบำเหน็จ บำนาญ จะต้องใช้เงินงบประมาณมากขึ้นถึงกว่า 1 แสนล้านบาท
ดังนั้นในระยะแรกแนวทางที่มีการเสนอคือใช้การปรับขึ้นเงินเดือนแบบทยอยปรับขึ้น โดยจะมุ่งไปที่เงินเดือนของข้าราชการที่มีรายได้น้อยก่อนซึ่งหากเริ่มในส่วนนี้จะใช้เงินงบประมาณไม่มาก ส่วนข้าราชการระดับสูงที่เงินเดือนมากแล้วก็จะได้รับการปรับขึ้นน้อยกว่า ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้จ่าย ตามหลักการเงินเดือนน้อยควรได้รับการปรับขึ้นมากกว่าแล้วค่อยขยับเงินเดือนของข้าราชการที่มีเงินเดือนสูง
อย่างไรก็ตามแนวนโยบายนี้จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อ ก.พ.ต้องมีการลดขนาดข้าราชการ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานด้วย เพราะปัจจุบันบางหน่วยงานมีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์เข้ามาช่วยการทำงานจำนวนมาก แต่ก็ยังมีจำนวนข้าราชการมาก และมีความซ้ำซ้อนกันในการทำงาน ซึ่ง ก.พ.เองก็ต้องไปดูความเหมาะสมในการลดจำนวนข้าราชการลงด้วย
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูล จำนวนข้าราชการไทย ล่าสุด หลังจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ ได้เสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณา เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ ปี 2566 – 2570 พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการจ้างงานในส่วนของกำลังคนภาครัฐ รวมกว่า 3 ล้านคน แบ่งเป็นข้าราชการ จำนวน 1.75 ล้านคน
ประเภทอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ (พนักงานจ้าง พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์การมหาชน) จำนวน 1.24 ล้านคน
สำหรับโครงสร้างวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 กำหนดกรอบวงเงินเอาไว้รวม 3.48 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายจ่ายประจำ ซึ่งรวมถึงเงินเดือนข้าราชการ และเงินเดือนลูกจ้าง เอาไว้ ภายใต้กรอบวงเงินรวม 2.61 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75.28% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 2.17 แสนล้านบาท