ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.ปรับตัวสูงสุดในรอบ 44 เดือน

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.ปรับตัวสูงสุดในรอบ  44 เดือน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯม.หอการค้าไทย เผย ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.66 อยู่ที่ระดับ 60.2 ปรับตัวสูงสุดในรอบ 44 เดือน จากนโยบายลดค่าครองชีพรัฐบาล แต่ยังกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลาง

นายธนวรรธน์  พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า   จากการสำรวจตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศจำนวน2,245 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.66 อยู่ที่ระดับ 60.2 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือน ก.ย.ที่ 58.7 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และถือว่าดัชนีปรับตัวสูงสุดในรอบ 44 เดือน นับตั้งแต่ มี.ค.62

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 54.5 ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 57.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 69.2 ซึ่งดัชนีฯ ทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 44 เดือนเช่นกัน

"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.นี้ ดีสุดในรอบ 44 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.62 เป็นการทำลายสถิติทุกตัว ทั้งดัชนีเศรษฐกิจโดยรวม, ดัชนีหางานทำ และดัชนีรายได้อนาคต เพราะคนรู้สึกว่าเศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด" นายธนวรรธน์ กล่าว

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพโดยลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ตลอดจนมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นอกจากนี้ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคตหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่างๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกันโดยที่ความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ

 

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค