“เศรษฐา”แถลงวันนี้ “ฟูลแพคเกจดิจิทัล วอลเล็ต” ลุ้นตัดสิทธิ์คนรวยหรือไม่?
“เศรษฐา”นั่งประธานประชุมดิจิทัล วอลเล็ต 10000 บาทชุดใหญ่ บ่าย 2 วันนี้เตรียมแถลงฟูลแพคเกจ รายละเอียดครบถ้วนทั้งที่มาเงินงบประมาณ รัศมีการใช้ พร้อมลุ้นตัดสิทธิ์คนรวยหรือไม่
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า วันนี้ (10 พ.ย.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาลโดยมีหน่วยงาน และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมโดยพร้อมเพียง และจะมีการแถลงข่าวในเวลา 14.00 น.
นายเศรษฐาเปิดเผยในการระหว่างการแถลงผลงานรัฐบาลรอบ 60 วัน ว่าในเรื่องของดิจิทัลวอลเล็ต ตนเองก็จะมีการแถลง full package เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจโดยจะมีการแถลงพร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาที่ไปของเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของใครได้รับบ้าง เป็นเรื่องของใช้กับสินค้าประเภทใดได้บ้าง กับระยะทางที่กำหนดไว้ตามบัตรประชาชนเป็นกิโลเมตร หรือเป็นอำเภอหรือเป็นตำบล จะมีการชี้แจงให้เกิดขึ้นได้ เรื่องของดิจิทัลวอลเล็ตในการเพิ่มรายได้ด้วย
ทั้งนี้เมื่อคืนที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ทวิตลงใน X ส่วนตัวว่า มีหลายสำนักข่าวทักมาว่าทำไมออกผลงาน 60 วัน หนึ่งวันก่อนออกแถลงการณ์ digital Wallet ทำไมไม่แถลงพร้อมกัน
“ขอชี้แจงอย่างนี้ครับ ผมอยากให้การแถลงข่าวพรุ่งนี้ให้ทุกท่านมุ่งจุดสนใจไปที่ digital Wallet โดยไม่ไปพะวงกับเรื่องผลงาน 60 วันที่ผ่านมาจะได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปและรายละเอียดของโครงการนี้อย่างเต็มที่ครับ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายใดใดที่จะกลบข่าวใดใดทั้งสิ้น เจอกันพรุ่งนี้(10พ.ย.)ครับ ราตรีสวัสดิ์”
ก่อนหน้านี้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังในฐานะ ประธานการประชุมอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ได้มีการแถลงผลการประชุมฯว่าในเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการที่อาจจะมีการตัดกลุ่ม “คนรวย”ออกเพื่อให้โครงการมีขนาดเล็กลง เบื้องต้นมีข้อเสนอ 3 แนวทางที่เสนอคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา คือ
- ตัดกลุ่มที่มีรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และหรือมีเงินฝากบัญชี เกิน 100,000 บาท จะเหลือคนที่เข้าร่วมโครงการ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 430,000 ล้านบาท
- ตัดกลุ่มรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือน และหรือมีเงินฝากบัญชี เกิน 500,000 บาทจะเหลือคนที่เข้าร่วมโครงการ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 490,000 ล้านบาท
- ให้เฉพาะกลุ่มยากไร้ 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 160,000 ล้านบาท