ร.ร. นานาชาติใน EEC ปรับกลยุทธ์รับมือการแข่งขัน ความต้องการแรงงานยุคใหม่
โรงเรียนนานาชาติในพื้นที่ EEC ปัจจุบันมีอยู่ราว 20 แห่ง โดยส่วนใหญ่มีทำเลที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี จากการขยายตัวของการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ที่ทำให้มีการพัฒนาพื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับการอยู่อาศัยของชาวต่างชาติ
ทั้งกลุ่มที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มที่เข้ามาทำงานในระดับผู้ชำนาญการใน EEC ซึ่งมีอยู่ราว 7,500 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของชาวต่างชาติทั้งหมดในกลุ่มเดียวกันที่อาศัยอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งส่วนหนึ่งมีการโยกย้ายเข้ามาพักอาศัยพร้อมกับครอบครัว และมีความต้องการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ระบุว่า จำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่ EEC ปี 2020 - 2022 ขยายตัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12% ต่อปี โดยจำนวนนักเรียนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 51% ของความจุเต็มจำนวน (Full capacity) ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมทั่วประเทศ ที่จำนวนนักเรียนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 44% ของความจุเต็มจำนวน
อย่างไรก็ตาม จากสัดส่วนจำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่ EEC เทียบกับความจุเต็มจำนวน ที่ยังไม่สูงมากนักดังกล่าว ส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติยังมีการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักเรียนให้เข้าเรียนอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบการสร้างความสนใจจากทั้งผู้ปกครองและนักเรียนให้ตัดสินใจส่งบุตรหลานเข้าไปเรียน ด้วยการชูจุดแข็งด้านคุณภาพของหลักสูตรการศึกษา ที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับในต่างประเทศ รวมถึงความพร้อมของบุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสนับสนุนต่อกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ความต้องการแรงงานที่มีความรู้ และทักษะเฉพาะด้าน เพื่อตอบโจทย์การลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่มีการลงทุนทั้งในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงเรียนนานาชาติหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่สามารถสอดรับกับ Mega trend ต่างๆ อาทิ เทรนด์ดิจิทัลและการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้มีความต้องการการพัฒนาในด้าน Data science การเขียน Coding การบริหารจัดการธุรกิจ เป็นต้น รวมถึงยังเป็นโอกาสสำหรับโรงเรียนนานาชาติในการขยายหลักสูตรการเรียนการสอนในเชิงวิชาชีพ ให้สามารถตอบโจทย์กับความต้องการแรงงานในอนาคต เพื่อให้นักเรียนที่จบการศึกษามีความรู้และทักษะตรงตามสายงานที่ตนเองต้องการ ซึ่งได้มาตรฐานในระดับนานาชาติ มีความได้เปรียบทางด้านภาษา และคุ้นเคยกับบรรยากาศการทำงานร่วมกันกับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ
SCB EIC มองว่า การพัฒนาการเรียนการสอนหลักสูตรวิชาชีพในโรงเรียนนานาชาติจะเป็นการสร้างความหลากหลายของหลักสูตร ที่ช่วยดึงดูดการส่งบุตรหลานเข้าเรียน ทั้งจากผู้ปกครองชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศใกล้เคียง รวมทั้งยังสามารถสร้างความแตกต่าง ด้วยการสร้างความร่วมมือกับสถาบันทางวิชาชีพที่มีมาตรฐาน และมีชื่อเสียงในต่างประเทศ สำหรับการใช้หลักสูตรการเรียนการสอนในแต่ละสาขาวิชา หรือการทำข้อตกลงในการส่งนักเรียนเพื่อเข้าไปศึกษา หรือฝึกงานในภาคปฏิบัติกับองค์กรชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่มีแนวโน้มดุเดือดมากยิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการโรงเรียนนานาชาติควรติดตามแนวโน้มตลาดแรงงาน ไปจนถึงความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อนำมาสู่การออกแบบหลักสูตร รวมถึงการกำหนดกลยุทธ์การแข่งขัน และทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ