หมดระยะนั่งฟรี 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' ธ.ค.นี้ เริ่มเก็บค่าโดยสาร 15 บาท
จับตากลางเดือน ธ.ค.นี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย” เตรียมเก็บค่าโดยสาร 15 บาท หลังเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีนาน 6 ปี
“รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดให้บริการประชาชนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่ปี 2560 ส่งผลให้เป็นหนี้ผูกพันแก่เอกชนผู้รับสัมปทานจ้างเดินรถสะสมรวมปัจจุบันสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น หนี้งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท และหนี้ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) จ้าง BTSC เดินรถประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
โดยล่าสุด “วิศณุ ทรัพย์สมพล” รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งระบุว่าคณะผู้บริหาร กทม.มีนโยบายที่จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ในอัตรา 15 บาทตลอดสาย หากรวมกับค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง, ตากสิน-บางหว้า กับเส้นทางหลัก ค่าโดยสารสูงสุดจะไม่เกิน 62 บาท
เนื่องจากปัจจุบันพบว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้เส้นทางส่วนต่อขยายสูงเฉลี่ย 2.5 แสนคนเที่ยวต่อวัน มีรายได้ประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อวัน แต่ยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ทำให้ กทม.มีภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการและการจ้างเดินรถเป็นเงินมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี การจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารนั้น กทม.ได้มอบให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ดำเนินการตามขั้นตอนให้ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมด กทม.จะรายงานกระทรวงมหาดไทย และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ หากเห็นชอบ ผู้ว่าฯ กทม.จึงลงนามออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 30 วันก่อนเริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร
“สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” เปิดเผยในฐานะกรรมการของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC โดยระบุว่า กรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเตรียมลงนามในประกาศกรุงเทพมหานครว่าด้วยเรื่องการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนั้น บริษัทฯ ยังไม่ได้รับแจ้งจาก กทม. แต่หาก กทม.ลงนามแล้ว ตามกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายใน 30 วัน เพื่อให้เวลาในการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงก่อน ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายแล้วหวังว่าทาง กทม.จะแบ่งรายได้มาจ่ายหนี้ให้ BTSC เพื่อให้หนี้ที่มีอยู่ลดลงบ้าง
สำหรับภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ BTSC ขณะนี้มีตัวเลขยอดหนี้รวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น หนี้งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท และ หนี้ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) จ้าง BTSC เดินรถ ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดทราบว่า กทม. อยู่ระหว่างพิจารณาหาแนวทางการชำระหนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
ด้านรายงานข่าวจาก กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการเตรียมออกประกาศจัดเก็บค่าโดยสารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายว่า ปัจจุบันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เริ่มต้น 17 บาท และสูงสุด 47 บาท แต่หากมีการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายอีก 15 บาท จะรวมเป็นสูงสุดไม่เกิน 62 บาทตลอดสาย โดยจะไม่มีการจัดเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เพราะผู้โดยสารจะชำระค่าโดยสารช่วงส่วนต่อขยายเพียง 15 บาทเท่านั้น และเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายได้อย่างเร็วสุดช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ หรืออย่างช้าในเดือน ม.ค.2567
สำหรับ แนวทางการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เป็นหนึ่งในแนวทางที่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เคยเสนอให้กับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ในสมัยนั้นพิจารณา โดยมี 3 แนวทาง ประกอบด้วย
1. ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย : โดยแนวทางนี้นับเป็นการจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราที่ต่ำ ช่วยลดภาระหนี้สินบางส่วน แต่สามารถลดผลกระทบค่าครองชีพประชาชนได้
2. เก็บค่าโดยสารแบบขั้นบันได : โดยสถานีที่ 1-5 เก็บ 15 บาท, สถานีที่ 5-10 เก็บ 20 บาท, สถานีที่ 11 เป็นต้นไปเก็บ 25 บาท รวมสูงสุดไม่เกิน 30 บาท
3. เริ่มต้น 15 บาท และปรับเพิ่ม 3 บาทต่อสถานี : ปรับราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนสถานี แต่สูงสุดไม่เกิน 30 บาท