'บีโอไอ' บุกตั้งสำนักงานต่างประเทศ 3 แห่ง เตรียมรับคลื่นลงทุนใหม่
บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวตั้งสำนักงานต่างประเทศ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงรุก ใกล้ชิดนักลงทุนใน 3 ประเทศเป้าหมาย เตรียมรับคลื่นลงทุนใหญ่ช่วงเทรนด์การย้ายฐานผลิตใน 2-3 ปีข้างหน้า
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 ว่า บอร์ดบีโอไอ อนุมัติจัดตั้งสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน และสิงคโปร์ เพื่อเดินหน้าแผนการดึงลงทุนเชิงรุก ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ ถือเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญในการดึงการลงทุนมายังประเทศไทย
โดยซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีอัตราการเติบโตสูง มีบริษัทที่ศักยภาพในการลงทุนจำนวนมาก อาทิ กลุ่มปิโตรเคมี และอี-สปอร์ต ซึ่งไทย-ซาอุฯ กำลังอยู่ในระยะการฟื้นความสัมพันธ์ทั้งในมิติเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ ทำให้เห็นโอกาสในการเพิ่มความร่วมมือทั้งสองประเทศมากขึ้น อีกทั้งจะเป็นการตั้งสำนักงานต่างประเทศแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยออฟฟิศนี้จะดูแลพื้นที่ในภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมด
เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นแหล่งรวมของสำนักงานภูมิภาคของบริษัทชั้นนำระดับโลก นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นเวทีที่มีการจัดงานด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี ทำให้มีผู้บริหารบริษัทชั้นนำระดับโลกเดินทางเข้ามาในประเทศ ดังนั้นการตั้งออฟฟิศในสิงคโปร์จึงเป็นโอกาสดีที่บีโอไอจะได้ใกล้ชิดและพบปะกับบริษัทต่างๆ และชักจูงมาลงทุนเพิ่มเติมที่ประเทศไทย
ขณะที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน จะเป็นออฟฟิศแห่งที่ 4 ในจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญในภาคตะวันตกของจีน ซึ่งจีนเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย และมีการเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง บีโอไอจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องตั้งออฟฟิศเพิ่มเติมในจีน
นอกจากนี้ บอร์ดยังได้อนุมัติการเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสำนักงานบีโอไอ 4 แห่งในจีนและไต้หวัน เพื่อเร่งชักจูงการลงทุนเชิงรุกอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ เช่น Semiconductor, Printed Circuit Board (PCB) และยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
"ขณะนี้มีโครงการลงทุนสำคัญจำนวนมากทั้งจากจีนและไต้หวันที่กำลังพิจารณาเลือกแหล่งลงทุน ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเลือกประเทศไทย ในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า จะมีคลื่นการลงทุนใหญ่ตอบรับเทรนด์การย้ายฐานผลิต จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ไทยจะต้องคว้าโอกาสนี้มาให้ได้"
ทั้งนี้ ปัจจุบันบีโอไอมีสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ จำนวน 16 แห่ง ใน 12 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ได้แก่
โตเกียว และโอซากา, ญี่ปุ่น
ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว, จีน
ไทเป, ไต้หวัน
โซล, เกาหลีใต้
มุมไบ, อินเดีย
ฮานอย, เวียดนาม
จาการ์ตา, อินโดนีเซีย
นิวยอร์ก และลอสแองเจิลลิส, สหรัฐอเมริกา
แฟรงก์เฟิร์ต, เยอรมนี
สตอกโฮล์ม, สวีเดน
ปารีส, ฝรั่งเศส
ซิดนีย์, ออสเตรเลีย