สายตรง ‘เศรษฐา’ ถึง ‘เลขาฯกฤษฎีกา’ สั่งดู พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน รอบคอบที่สุด
เลขาธิการคกก.กฤษฎีการับโจทย์พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน เตรียมดูกฎหมาย รธน. และกม.ที่เกี่ยวข้องกับการเงินทุกฉบับ ก่อนเสนอรัฐบาลทำกฎหมายได้หรือไม่ ก่อนเสนอบอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่อีกรอบ เผยนายกฯให้เวลาดูกฎหมายเต็มที่ป้องกันการทำผิดกฎหมาย ไม่หนักใจรับโจทย์ใหญ่ดูกม.สำคัญ
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังได้สั่งการโดยตรงให้ดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลจะใช้ทำโครงการแจกดิจิทัล วอลเล็ตเพื่อแจกเงินคนละ 10,000 บาทให้ละเอียดรอบคอบที่สุดรวมทั้งให้ใช้เวลาในการดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้เต็มที่
“ท่านนายกฯได้โทรศัพท์มาหาผมเองสั่งการว่าให้ดูเรื่องนี้โดยละเอียด ให้ใช้เวลาได้เต็มที่ให้ดูดีๆ ท่านไม่อยากทำผิดฎหมาย กฎหมายว่าอย่างไรให้ว่าอย่างนั้น โดยขั้นตอนนี้อาจจะใช้ระยะเวลานานก็ต้องมีการปรับแผนงานก็ถือว่าเป็นการทำงานตามขั้นตอนปกติ”
ทั้งนี้ในเรื่องของขั้นตอนการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ยังไม่ถึงขนาดต้องตั้งคณะกรรมการพิเศษของกฤษฎีกาขึ้นมาพิจารณา แม้ว่าตามแผนการทำงานของรัฐบาลจะให้กฎหมายการกู้เงินเข้าสู่สภาฯได้ภายในเดือน ม.ค.2567 แต่ข้อกฎหมายนั้นต้องดูให้รอบคอบหากต้องใช้ระยะเวลาเพิ่มคาดว่าคณะทำงานจะปรับกรอบการทำงานได้
ดูกฎหมายทุกด้านรอบคอบที่สุด
โดยหลังจากนี้ในการทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องดูคือ ตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ ต้องดูกฎหมายวินัยการเงินการคลัง กรอบหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กฎหมายเรื่องหนี้สาธารณะ และกฎหมายเรื่องเงินตรา รวมทั้งข้อกำหนดที่เกี่ยวกับกฎหมาย พ.ร.บ.การเงิน คืออะไรที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการออก พ.ร.บ.ในส่วนนี้ต้องดูทั้งหมด แล้วต้องเอามาดูด้วยว่ามีเงื่อนไขที่จะดูว่ามีเงื่อนไขที่จะทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
เตรียมส่งความเห็นเข้าที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลอีกรอบ
แล้วหากทำได้ทำในเงื่อนไขอะไรบ้างเพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับรัฐบาล ซึ่งเมื่อกฤษฎีกาได้ตรวจสอบข้อกฎหมายทั้งหมดแล้ว่าทำได้หรือไม่ได้ก็จะมีการนำความเห็นเข้าสู่บอร์ดของคณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ตฯชุดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยในการประชุมครั้งต่อไปก็จะรายงานให้ที่ประชุมทราบถึงข้อกฎหมายว่าทำได้ไม่ได้อย่างไร เพื่อให้บอร์ดตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งว่าจะทำอย่างไรต่อในช่องทางไหน
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกากล่าวต่อว่าข้อเสนอเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้นเป็นข้อเสนอที่ได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา
โดยนายกรัฐมนตรีได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าคณะอนุกรรมการฯได้มีพิจารณาถึงที่มาของเงินที่จะมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้วเห็นว่าแนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ยอมรับก่อนการประชุมฯคณะกรรมการดิจิทัลชุดใหญ่นั้นตนยังไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินฯ
ทั้งนี้ตนเองไม่ได้มีความเห็นอะไรเป็นพิเศษซึ่งการใช้เงินแต่ละแบบก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ที่ประชุมบอกว่าทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดตอนนี้คือการกู้เงิน โดยออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางใหม่ซึ่งไม่เคยพูดถึงกันมาก่อน ซึ่งตัวเลือกเดียวในการออกกฎหมายที่รัฐบาลเลือกคือเป็น พ.ร.บ.คือให้สภาฯเป็นคนที่ช่วยพิจารณา ส่วน พ.ร.ก.นั้นก็เป็นเรื่องเร่งด่วนเกินไปไม่มีใครคัดค้านได้
“ก่อนหน้านี้มีการพิจารณาทางเลือกหลายแนวทาง เช่น การใช้งบประมาณปกติซึ่งแนวทางนี้ก็ไม่ต้องทำอะไร ส่วนเมื่อจะมีการออกพ.ร.บ.เงินกู้ทำให้ต้องมีอะไรที่ต้องพิจารณาหลายอย่างจึงบอกที่ประชุมว่าฯ ขอรับเรื่องนี้ไปดูเพื่อความรอบคอบ เพื่อความชัวร์ ว่าเป็นไปตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่”
ส่วนกรณีที่มีการไปร้องเรียนกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่าการออกพ.ร.บ.กู้เงินเป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.การเงินการคลัง นั้นเรื่องนี้ตนไม่สามารถตอบได้เพราะตอนนี้เรื่องนี้รัฐบาลได้มีการเสนอแนวคิดที่จะออกกฎหมายเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แล้วขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเท่านั้น
เมื่อถามว่าเรื่องนี้ในฐานะเลขาธิการกฤษฎีกาหนักใจหรือไม่เพราะประชาชนก็สนใจในเรื่องนี้ส่วนฝ่ายการเมืองก็ให้กฤษฎีกาเป็นผู้ที่ให้ความเห็นกฎหมายนี้ นายปกรณ์กล่าวว่าไม่ได้รู้สึกหนักใจอะไร
เมื่อถามว่าหากมีการวิเคราะห์แล้วว่าไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่รัฐบาลขอคำแนะนำมาว่าจะทำอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายเลขาธิการกฤษฎีกากล่าวว่าอันนี้ยังไม่รู้ เพราะตนเองไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย
“กฎหมายก็คือกฎหมายเพียงแต่ว่านโยบายมีแบบนี้ คำถามก็คือว่าแล้วมันทำได้ตามกฎหมายนี้หรือไม่ แค่นั้นเองเราก็ว่ากันไปอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้หนักใจอะไร”นายปกรณ์ กล่าว