APEC CEO Summit 2023 โอกาสทาง ‘ธุรกิจ’ ของไทย
การมี “นายกรัฐมนตรี” ทำหน้าที่เป็น “เซลแมน” ให้ความสำคัญกับการพบปะกับคู่ค้าทางธุรกิจระหว่างการเยือนต่างประเทศ สร้างโอกาสให้นักธุรกิจสร้างเครือข่ายและการจับคู่ธุรกิจเพิ่มเป็นเรื่องที่ดี
“ประเทศไทยพร้อมร่วมมือทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการขยายการเติบโต กระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับตำแหน่งของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นสำหรับการค้าและการลงทุน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการเพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นถ้อยแถลงที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) วันที่ 15 พ.ย.ในการประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ประจําปี 2566
พร้อมเน้นย้ำความสำคัญด้านความยั่งยืน ซึ่งปี 2566 นี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของ SDG Index ที่หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะใช้โอกาสนี้ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเป็นสองเท่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 ทำให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเงินสีเขียวผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability -Linked Bonds) เพื่อกระตุ้นการเติบโตของตลาดพันธบัตรสีเขียวและดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ยกระดับการรับรู้และทักษะด้านดิจิทัลในระยะยาวเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบริการสาธารณะของประเทศ
“ถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น” เป็นอีกคีย์เวิร์ดหนึ่งที่ “นายกรัฐมนตรี” ของไทยพยายามสื่อสารในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) ไปในทำนองที่ว่า ประเทศไทยสามารถจะเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคนี้ ทำให้เชื่อได้ว่าหากโครงการ Landbridge (สะพานข้ามทะเลเพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย) แล้วเสร็จ จะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกได้ ทำให้ลดต้นทุนลงได้
จะว่าไปแล้วการมี “นายกรัฐมนตรี” ทำหน้าที่เป็น “เซลแมน” ทำหน้าที่สื่อสารชักชวนนักลงทุนให้เห็นความสำคัญของการลงทุนในประเทศของตนเอง ให้ความสำคัญกับการพบปะกับคู่ค้าทางธุรกิจระหว่างการเยือนต่างประเทศ สร้างโอกาสให้นักธุรกิจสร้างเครือข่ายและการจับคู่ธุรกิจเพิ่มเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากดูตัวเลขการค้าตลอดหลายปีที่ผ่านมาทั้ง APEC เพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่าภายในสองทศวรรษ จาก 7.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2001 เป็นจำนวนกว่า 27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2021 หลังจากนี้คงต้องรอดูว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจที่ได้รับโอกาสจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมาได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ต้องพร้อมที่จะรองรับ หาก “โอกาส” จะมาถึงด้วยเช่นกัน