‘กูรู’ ชี้ ‘สหรัฐ – จีน’ ยากยุติขัดแย้ง หนุน ‘อาเซียน’รักษาบทบาทเป็นกลาง
ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก มองความขัดแย้งของมหาอำนาจสหรัฐฯ - จีน รุนแรงมากขึ้นหลังจีนขยายอิทธิพล บน BRI ได้กว่า 140 ประเทศ แนะอาเซียนส่งสัญญาณชัดเรื่องจุดยืนที่เป็นกลาง TDRI ชี้โอกาสไทย เพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียว บิ๊กคอร์ปหนุนบทบาทไทยในอาเซียน บูมศก.
วานนี้ (16 พ.ย. ) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดสัมมนาหัวข้อ “Thailand Competitiveness Conference 2023” ภายใต้หัวข้อหลัก “Building a Future-Proof Nation” โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคธุรกิจเข้ารับฟังกว่า 200 คน
ศ.คีชอร์ มาห์บูบานิ (Professor Kishore Mahbubani) ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์การเมือง จากสถาบันวิจัยเอเชีย (Asia Research Institute) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวในหัวข้อ “What’s Next on Geopolitics” ว่าในทศวรรษที่ผ่านมาโลกได้เห็นการแข่งขันกันอย่างรุนแรงของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 อันดับ 2 ของโลกคือสหรัฐฯ และจีนจนกลายเป็นสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยี โดยในภาพรวมการแข่งขันของทั้งสองประเทศจะยังคงต่อเนื่องไปแบบมาราธอนคือต่อเนื่องไปอีก 10 – 20 ปีโดยยังไม่มีประเทศใดได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดแต่จะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆผ่านการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้า รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆที่เข้มงวดมากขึ้น
สหรัฐฯพันธมิตรนานาชาติลดลง
ทั้งนี้อาจมีการพูดถึงบรรยากาศทางการค้าและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่คล้ายกับยุคสงครามเย็นที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงระหว่างสหรัฐฯและสหภาพโซเวียต แต่ในปัจจุบันความแตกต่างก็คือในช่วงสงครามเย็นนั้นสหรัฐฯมีพันธมิตรที่กว้างขวางเนื่องจากมีบทบาทในเวทีโลกมาก ตัวอย่างเช่นในอาเซียนเกือบทุกประเทศในช่วงสงครามเย็นนั้นเป็นพันธมิตรและทำการค้ากับสหรัฐฯ แต่ในปัจจุบันนั้นจีนก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากกว่าสหรัฐฯเนื่องจากนโยบายที่ต่อเนื่องของจีนในการเข้าไปมีบทบาทในเวทีโลกในด้านต่างๆโดยเฉพาะการสร้างข้อตกลง “Belt and road Initiative” หรือ “BRI” ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 140 ประเทศ จาก 190 ประเทศทั่วโลก
ในขณะที่บทบาทของสหรัฐฯในเวทีโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้นลดบทบาทของตนเองลง เช่น ในช่วงสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นสหรัฐฯถอนตัวจากความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสาหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ทั้งที่เป็นประเทศที่ก่อตั้งข้อตกลงขึ้น แต่จีนนั้นได้เข้ามาแสดงบทบาทในการเป็นผู้นำข้อตกลงนี้แทนซึ่งเป็นตัวอย่างที่ว่าจีนให้ความสำคัญกับการมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น
“จีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและเป็นตลาดการค้าที่สำคัญของหลายประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้สหรัฐฯเข้าไปกีดกันหรือห้ามการทำการค้ากับจีนได้ลำบาก นโยบายโดดเดี่ยวจีนของสหรัฐฯที่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศเมื่อ 3 ปีที่แล้วไม่ได้ผลแม้จะเพิ่มมาตรการกีดกันในด้านต่างๆแล้วก็ตาม”ศาสตราจาย์คีชอร์กล่าว
อย่างไรก็ตามจุดแข็งที่สำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯก็คือการมีพลวัตรทางเศรษฐกิจสูง สหรัฐฯเป็นประเทศเปิดที่รองรับคนเก่งๆจากทั่วโลกเข้าไปทำงานในประเทศ คนหลายสัญชาติเข้าไปเป็นผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ เช่น กูเกิลนั้นผู้บริหารนั้นเป็นคนอินเดีย ซึ่งการเปิดกว้างแบบนี้ทำให้สหรัฐฯยังเป็นผู้นำในเรื่องเทคโนโลยี และมีบริษัทที่ผลิตนวัตกรรมใหม่ออกมาอยู่ตลาดเวลาซึ่งจุดแข็งในเรื่องนี้ก็ทำให้จีนไม่สามารถประเมินสหรัฐฯต่ำจนเกินไป
แนะติดตามจุดยืนอินเดีย-ยุโรป
ในมิติความซับซ้อนของภูมิรัฐศาสตร์ในอนาคตนั้นต้องทำความเข้าใจแนวคิดและจุดยืนของประเทศต่างๆที่จะมีอิทธิพลต่อโลกในอนาคต เช่น อินเดีย และยุโรปจะมีจุดยืนต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างไร ออสเตรเลียที่เคยมีความขัดแย้งกับจีน ล่าสุดผู้นำประเทศก็เดินทางไปเยือนจีน ขณะที่ภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีความซับซ้อนและหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้ว่าปัจจุบันจีนจะแสดงบทบาทในการเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้สำเร็จในระดับที่น่าพอใจส่วนปัญหาในอิสราเอล และฉนวนกาซาก็มีเพียงสหรัฐฯเท่านั้นที่สามาถรถเข้าไปแสดงบทบาทในพื้นที่นี้ได้
สำหรับภูมิภาคอาเซียนนั้นข้อดีก็คือความขัดแย้งของมหาอำนาจทั้งสองประเทศนั้นยังไม่กระทบกับภูมิภาคอาเซียนโดยตรง และการแสดงจุดยืนของอาเซียนนั้นก็จะเน้นในเรื่องของความเป็นกลาง และมีท่าทีค่อนข้างที่ประนีประนอมและสุภาพยกเว้นสิงคโปร์ที่จะมีจุดยืนที่ชัดเจน ส่วนอินโดนิเซียนั้นอยู่ที่ผู้นำที่ขึ้นมาในแต่ละช่วงเวลาว่าให้ความสำคัญกับจีนหรือสหรัฐฯมากกว่ากัน ทั้งนี้บทบาทในการเป็นกลางของอาเซียนนั้นถือว่าสำคัญในภาวะที่การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น โดยสิ่งที่อาเซียนควรทำก็คือการส่งสัญญาณให้ชัดเจนขึ้นว่ากลุ่มอาเซียนต้องการคงจุดยืนเป็นกลางเอาไว้ไม่ต้องการที่จะเข้ากับมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งบทบาทนี้จะช่วยส่งเสริมสันติภาพและความร่วมมือของโลก เนื่องจากในปัจจุบันนั้นมีหลายปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่มาก เช่น เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้หากมหาอำนาจทั้งสองประเทศยังคงขัดแย้งและแข่งขันกันรุนแรงแบบนี้
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยทุกวันนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับเวียดนามซึ่งก่อนหน้านี้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตได้รวดเร็วมาก แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยชะลอตัวขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดซึ่งในขณะนี้ขนาดของเศรษฐกิจของไทยนั้นยังใหญ่กว่าเวียดนาม แต่ว่าก็ต้องตั้งคำถามว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตแซงหน้าเศรษฐกิจไทยหรือไม่ ซึ่งคำถามนี้มองว่าไทยจะต้องใช้เป็นแรงกระตุ้นในการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อสปีดหนีเวียดนามให้ได้
TDRI แนะไทยเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าสีเขียว
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในหัวข้อ “Building a Foundation for Exponential Growth”ว่าโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดดจำเป็นที่ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และลดอุปสรรคการทำธุรกิจ เช่น การยกเลิกและปรับลดกฎหมายที่ไม่ทันสมัยซึ่งเป็นอุปสรรคและต้นทุนของการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพแรงงานที่ต้องเริ่มตั้งแต่ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาทั้งระบบให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี เพื่อให้แรงงานของไทยในอนาคตมีทักษะที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่จะมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจำเป็นที่ต้องปรับเพิ่มงบวิจัยและการพัฒนาต่อจีดีพีให้มากกว่าในระดับปัจจุบันเพื่อสนับสนุนให้มีการสร้างเทคโนโลยีของตัวเองในประเทศ
สำหรับโอกาสของอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าสีเขียว หรือพลังงานสะอาด โดยปัจจุบันโครงสร้างของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เป็น ก๊าซธรรมชาติ 51% ถ่านหิน 16% พลังงานหมุนเวียน 14% ที่เหลือเป็นเชื้อเพลิงอื่นๆ ซึ่งเรายังสามารถเพิ่มเชื้อเพลิงที่เป็นไฟฟ้าสะอาดได้มากขึ้นอีกเพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนเช่นเรื่องของดาต้าเซนเตอร์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมแบบนี้จะร้องขอไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 100% (RE100)ซึ่งหากไทยมีพลังงานสะอาดรองรับก็จะช่วยดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้ง่ายขึ้น
ในการเสวนาหัวข้อ “Driving Growth in the Next Decade” ภาคเอกชนชั้นนำของไทยได้ระดมความเห็นในหัวข้อนี้เกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปัจจุบันอาเซียนถือว่าเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยขนาดของประชากรนั้นมีอยู่มากถึง 700 – 800 ล้านคน ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่าไทยมากดังนั้นการที่ส่งเสริมให้ไทยมีบทบาทของเศรษฐกิจไทยในอาเซียนนั้นจึงเป็นส่วนสำคัญ โดยหากเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจทำในเรื่องสำคัญที่ถือว่าเป็นหัวใจของเศรษฐกิจยุคใหม่คือการไหลเวียนของข้อมูล และการไหลเวียนของเงินทุน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้สิงคโปร์นั้นก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำภูมิภาคได้และเกิดความสามารถในการแข่งขัน
ปตท.มุ่งธุรกิจสอดคล้องเทรนด์อนาคต
โดยในส่วนของธุรกิจ ปตท.นั้นก็มุ่งไปในธุรกิจที่มีความจำเป็นกับเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น โลจิสติกส์ ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องจากสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ (Robotics) ก็เป็นธุรกิจที่เรามุ่งสร้างการเติบโตใหม่ที่จะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย
กสิกรหวังไทยเป็นศูนย์กลางการเงินอาเซียน
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถือว่าเติบโตได้เฉลี่ยเพียง 3% เท่านั้นถือได้ว่าเป็นทศวรรษที่สูญหาย และหากไปดูในแง่ของตัวเลขที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็มาจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่ามีการกระจุกตัวของภาคเศรษฐกิจมากดังนั้นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปต้องมีการพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆให้มีความเข้มแข็งเหมือนกับสร้างฮีโร่ทางเศรษฐกิจขึ้นมาเพิ่มเติม ส่วนแนวทางการพัฒนาบทบาทของประเทศไทยในเวทีนานาชาตินั้นเห็นว่ามีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะบทบาทของผู้นำที่จะแสดงออกในเวทีนานาชาติ ที่จะดึงการลงทุนเพื่อเข้ามาสร้างการเติบโตในประเทศไทยโดยในเรื่องธุรกิจการเงินนั้นไทยควรจะมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Center) ของภูมิภาคให้ได้ในอนาคต
เบอร์ลี่ยุคเกอร์ หนุนไทยยกระดับเทคโนโลยี
ด้านนายอัศวิน เตซะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บิ๊กซี ชูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้านโดยเฉพาะเรื่องของยุทธศาสตร์ที่ตั้งของประเทศซึ่งหากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและถูกต้องจะสามารถเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนได้ อย่างไรก็ตามมีความท้าทายที่สำคัญที่ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ได้แก่ จำนวนประชากรที่ลดลง และการที่ยังไม่สามารถพัฒนาและยกระดับและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเองได้โดยแนวทางการแก้ปัญหาในส่วนแรกเรื่องของประชากรก็จำเป็นที่ต้องทำนโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งการดึงประชากรที่มีคุณภาพจากประเทศอื่นๆให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทย
ขณะที่ในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนมีตัวอย่างที่ดีในหลายๆที่ในการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี เช่น ฮ่องกง ที่มีการตั้งทีมงานเฉพาะกิจรวมเอาหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดึงลงทุน และการขออนุญาตต่างๆเข้ามาอยู่ด้วยกันและอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนอย่างเบ็ดเสร็จช่วยให้สามารถลงทุนได้เร็ว ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาคน โครงการสร้างพื้นฐาน และแก้ปัญหาประชากรลดลงของประเทศเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยให้เพิ่มขึ้น