'BCPG' เปิด 3 ปัจจัยเสี่ยงปี 67 ทุ่ม 1.4 หมื่นล้าน ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจโลก
"BCPG" หวังรัฐเปิดเสรีระบบสายส่งไฟฟ้าเสรี หนุนเป้าไทยสู่ Net Zero ระบุ นโยบายอุ้มค่าไฟมากเกินไปสร้างภาระกฟผ. สุดท้ายประชาชนก็ต้องจ่ายไฟอยู่ดี เปิด 3 ปัจจัยเสี่ยงปี 67 อัดงบลงทุน 1.4 หมื่นล้าน ฝ่าฟันความท้าทาย พร้อมตั้งเป้าภายในปี 73 รายได้ทะลุ 3 พันล้าน
นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานแถลงข่าว “BCPG Way Forward 2024” ว่า จากนโยบายนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ด้านการลดราคาค่าไฟฟ้าปัจจุบันเหลือหน่วยละ 3.99 บาท นั้น จากต้นทุนที่กว่าหน่วยละ 4 บาทนั้น ในมุมมองของบริษัทฯ ผู้ผลิตไฟฟ้าถือว่าได้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม การลดค่าไฟดังกล่าวถือว่าไม่สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง สร้างภาระให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่รับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) แทนประชาชนไปก่อน และสุดท้ายแล้วผู้ใช้ไฟฟ้าก็ต้องเป็นผู้จ่ายส่วนที่มีการรับภาระไว้อยู่ดี ดังนั้น เมื่อไหร่เอากลับมาก็ต้องขึ้นค่าไฟ ภาครัฐจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
นอกจากนี้ ในส่วนของสมาร์ทซิตี้ โดยเฉพาะการนำไฟที่เหลือในระบบให้สามารถมีการซื้อขายส่วนที่เหลือราว 30-40% ได้ จะเกิดประโยชน์อย่างมาก และรัฐบาลควรลดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ให้น้อยลง จะแก้ปัญหาหนี้สาธารณะให้น้อยลงด้วย สามารถบริการจัดการไฟฟ้าได้ทั้งระบบ เพราะต้นทุน Billing ขายส่งสูง ด้วยการนำไปบวกกับค่าไฟปัจจุบันก็จะไม่มีใครซื้อ
"ส่วนเรื่องของการที่ภาครัฐสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ถือเป็นเรื่องดีที่รัฐให้การสนับสนุน แต่บางจังหวะก็ส่งเสริมแบบมีสร้างเงื่อนไข ดังนั้น หากจะให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางมางคาร์บอนและ Net Zero ตามเป้ารัฐบาลควรลดขั้นตอนกฎระเบียบบางอย่างให้เอื้ออำนวยมากยิ่งขึ้น"
นายนิวัติ กล่าวว่า สำหรับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจปี 2567 อันดับแรก คือ 1. ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังไม่ดี อัตราดอกเบี้ยยังคงสูง ก่อให้เกิดต้นทุนด้านการเงินและกระทบต่อผลตอบแทน และการกู้เงิน 2. ราคาเชื้อเพลิงที่ยังคงมีความผันผวนทั้ง น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นดีจะดีกับบริษัทฯ แต่บางโครงการจะมีต้นทุนค่าขนส่ง 3.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังเกิดขึ้น จะยังคงเป็นความเสี่ยงที่ขยายวงกว้างขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2573 หรือ อีก 7 ปีข้างหน้า บริษัทฯ มีแผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวใน 3 ด้าน ได้แก่
1. ผลตอบแทน โดยมีรายได้สุทธิจากการลงทุน 3,000 ล้านบาท
2. การลงทุน : กำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 2,000 เมกะวัตต์ (Operating Capacity) และ
3. ความยั่งยืน: ได้รับการรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอน
โดยดำเนินการภายใต้กรอบกลยุทธ์ประกอบด้วย
1. Green Expanded การขยายกำลังการผลิต ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงิน และการต่อยอดการลงทุนในธุรกิจที่เป็น New S Curve
2.Green Innovation การมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมพลังงานสีเขียว ที่ตอบโจทย์การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 3. Green Target การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593
สำหรับ ในปี 2567 บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยกว่าร้อยละ 60 หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท ใช้ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่อยู่ในพอร์ตให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ อีกทั้งยังจัดสรรงบประมาณอีกกว่าร้อยละ 40 หรือ ประมาณ 6,000 ล้านสำหรับการลงทุนในโครงการใหม่ ซึ่งทิศทางการดำเนินงาน บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งและความเติบโตของธุรกิจหลัก (Core Business) โดยในปี 2567 บริษัทฯ คาดว่า EBITDA จะเติบโตร้อยละ 30