กทม.โยนมหาดไทยหนี้ 'สายสีเขียว' ปมเงื่อนไข ม.44 เจรจาแลกสัมปทาน
กทม.โยนมหาดไทยสางหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ก้อนแรก 2.3 หมื่นล้าน กลับลำไม่สามารถจ่ายได้ทันที หลังพบถูกบรรจุในเงื่อนไข ม.44 เจรจาแลกสัมปทาน จ่อเก็บเงินค่าโดยสาร 15 บาท ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ม.ค.นี้ หวังนำมาชำระหนี้เอกชนบางส่วน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางชำระหนี้เอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่า จากก่อนหน้านี้ที่ กทม.พิจารณาจะชำระค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ครบกำหนดชำระประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันได้เสนอไปยังกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดยเรื่องนี้ตามกระบวนการจำเป็นต้องเสนอให้กระทรวงมหาดไทยและ ครม.ตีความในการชำระค่าใช้จ่ายให้แก่เอกชน เนื่องจากพบว่าสัญญาส่วนนี้อยู่ภายใต้คำสั่ง ม.44 เกี่ยวกับการเจรจาต่อสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้ กทม.ไม่สามารถนำเงินสะสมจ่ายขาดที่มีพร้อมอยู่ราว 5 หมื่นล้านบาท มาชำระให้แก่เอกชนได้ทันที เพราะตามกระบวนการต้องผ่านการพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทย ครม. และนำกลับมาสู่สภา กทม.พิจารณาอนุมัติ
“ตอนนี้หนี้สะสมในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวปรับเพิ่มขึ้นทุกวัน กทม.ก็ต้องเจรจากับเอกชนไปเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้คุยกับเอกชนมาตลอด และเราอยากให้เรื่องนี้จบให้เร็วที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล การพิจารณา ม.44 ด้วยว่าจะมีแนวทางอย่างไร”
ส่วนมูลหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และต่อขยายที่ 2 ปัจจุบันทาง กทม.ได้ยื่นอุทธรณ์คดี และยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง โดยมูลหนี้ส่วนนี้ กทม.รอผลการตัดสินของศาลปกครอง ก่อนกำหนดแนวทางดำเนินการต่อไป โดย กทม.ยอมรับว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จุดเริ่มต้นเกิดจากการดำเนินการที่ไม่นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา กทม.ให้ถูกต้อง
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า กทม.มีกำหนดจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต อัตรา 15 บาทตลอดสาย ในช่วงกลางเดือน ม.ค.2567 เพื่อจะนำรายได้ค่าโดยสารส่วนนี้มาชำระให้กับเอกชนในบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในกรอบช่วงเวลาของข้อพิพาท เพื่อทำให้หนี้ค่าจ้างเดินรถไม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระบวนการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 นั้น ปัจจุบัน กทม.ได้ทำหนังสือขอความเห็นมายังกระทรวงคมนาคม พร้อมหารือในแนวทางจัดเก็บค่าโดยสารแล้ว ซึ่งกระทรวงคมนาคมไม่มีปัญหาติดขัด หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 30 วันก่อนเริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร
“ตอนนี้เอกชนผู้รับจ้างเดินรถอยู่ระหว่างเตรียมติดตั้งระบบหัวอ่านจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งคาดว่าหาก กทม.ออกประกาศจัดเก็บค่าโดยสารในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ ก็จะใช้เวลาติดตั้งระบบแล้วเสร็จพอดี เริ่มจัดเก็บค่าโดยสารได้หลังปีใหม่ ในกลางเดือน ม.ค.2567”
อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าในช่วงแรกที่เริ่มจัดเก็บค่าโดยสารประชาชนจะใช้บริการลดลง หลังจากที่ปัจจุบันในช่วงส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีปริมาณผู้โดยสาร 4 แสนคนเที่ยวต่อวัน และสายสีเขียวหลัก ช่วงสถานีหมอชิต – สถานีอ่อนนุช และสถานีสนามกีฬา – สถานีสะพานตากสิน รวมส่วนต่อขยายที่ 1 สายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-สถานีแบริ่ง) และส่วนต่อขยายสายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-สถานีบางหว้า) มีปริมาณผู้โดยสารราว 1 ล้านคนเที่ยวต่อวัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือร่วมกับนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ถึงแนวทางชำระหนี้ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 โดยมีข้อสรุปจะเสนอสภา กทม.ในเดือน ก.ค.2566 เพื่อนำเงินสะสมจ่ายขาดของ กทม.มาชำระ แต่ถือเป็นอำนาจของสภา กทม.ที่จะบรรจุเป็นวาระพิจารณาหรือไม่
อีกทั้งผู้ว่า กทม.ยังระบุด้วยว่า กทม.เตรียมจ่ายหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าก้อนแรก 2.3 หมื่นล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม. เพื่อขออนุมัติใช้เงินสะสมมาจ่ายหนี้ส่วนนี้ เนื่องจากหนี้ที่เกิดจากค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า เป็นก้อนหนี้ที่ครบกำหนดต้องชำระให้กับภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่าคณะกรรมการวิสามัญที่ผ่านมาประชุมแล้ว 5 ครั้ง ดังนั้น กทม.จึงมองว่าหนี้ส่วนนี้มีข้อมูลพิจารณาเพียงพอที่จะชำระให้เอกชนได้
สำหรับปัจจุบันหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่าง กทม.โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งออกเป็น 1.ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และ 2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) รวมกว่า 2.28 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ หนี้ในจำนวนนี้ปัจจุบันได้มีการยื่นฟ้องและอยู่ในขั้นตอนศาลปกครองพิจารณา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ1.หนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ศาลปกครองพิพากษาให้ กทม. และเคทีร่วมกัน จ่ายหนี้ให้กับบีทีเอส จำนวนประมาณ 11,755.06 ล้านบาท ทั้งในส่วนค่าเดินรถ และซ่อมบำรุง และ 2.หนี้ก้อนที่ 2 ส่วนค่าเดินรถ และซ่อมบำรุง ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้จ่ายหนี้เพิ่มอีก ประมาณ 11,068.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565